ธุรกิจโรงไฟฟ้าปี 67 คาดโตตามดีมานด์ในปท. ท่ามกลางความท้าทายโครงสร้างพลังงาน-Ft

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 6, 2023 16:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้า (Power) ปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวตามความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศ ท่ามกลางความท้าทายจากการปรับโครงสร้างพลังงานและค่า Ft ของรัฐบาล ขณะเดียวกัน พลังงานหมุนเวียนในไทยและทั่วโลกยังคงเติบโตจากการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนตามเป้าหมาย Net zero pathway และนโยบาย ESG

ความต้องการใช้ไฟฟ้าในไทยยังคงเติบโตตามการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยแนวโน้มไฟฟ้านอกระบบทยอยเพิ่มสัดส่วนมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการผลิตไฟฟ้าใช้เอง โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้ คาดว่าการใช้ไฟฟ้า ทั้งในและนอกระบบการไฟฟ้าจะขยายตัว 3.5%YOY ในปี 2567 และ 3.3% (CAGR) ในปี 2568-2570 ขณะที่ค่า Ft ของไทยมีทิศทางปรับลดลง หลังจากสูงขึ้นทำสถิติสูงสุดในช่วงต้นปี 2566

ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่ค่า Ft ของไทยในปี 2567 อาจอยู่ในระดับต่ำ หนุนให้ค่าไฟฟ้าอยู่ต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วย หากรัฐบาลยังคงให้เลื่อนการจ่ายคืนภาระหนี้คงค้าง (AF) ที่มีต่อ EGAT พร้อมกดดันให้ Pool gas price อยู่ในระดับต่ำ ด้วยการเพิ่มสัดส่วนปริมาณก๊าซในอ่าวไทยใน Pool gas ทั้งนี้การลดลงของค่า Ft อาจส่งผลต่อรายได้ของโรงไฟฟ้าในกลุ่มที่รายได้อ้างอิงกับค่า Ft เช่น โรงไฟฟ้าที่มีสัดส่วนลูกค้าอุตสาหกรรม (IU) สูง, โรงไฟฟ้าที่มีสัญญา Private PPA และโรงไฟฟ้า SPP (Non-firm)

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางลบจากค่า Ft ที่ลดลง อาจถูกลดทอนลง และไม่รุนแรงเหมือนในปี 2565 เนื่องจาก Ft ที่ลดลงสอดคล้องไปกับต้นทุนพลังงานก๊าซที่ลดลง (แม้ว่าต้นทุนก๊าซธรรมชาติอาจมีความเสี่ยงจากปัญหา Geopolitics บ้างในระยะสั้น)

สำหรับแนวโน้มในระยะกลาง การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล มีความเสี่ยงที่จะถูกกดดันมากขึ้น จากกระแสการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพต่ำ ทำให้ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลอาจต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับกระแสของโลก รวมถึงสอดรับไปกับแนวทาง Thailand Taxonomy ที่เริ่มดำเนินการในกลุ่มพลังงานไปแล้ว

ความท้าทายของธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่ต้องจับตา

1. ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อค่า Ft โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่รายได้อ้างอิงกับค่า Ft อาทิ นโยบายด้านพลังงานของรัฐบาล โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างก๊าซธรรมชาติ และการเก็บ AF เพื่อชำระคืนหนี้ให้แก่ EGAT เร็วกว่าที่คาด, ราคาก๊าซโลกที่ไม่ทยอยลดลงตามที่คาดการณ์ จากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดต่าง ๆ โดยเฉพาะความเสี่ยงจาก Geopolitical เช่น ความขัดแย้งในอิสราเอล-ปาเลสไตน์ เป็นต้น และค่าเงินบาทที่อาจอ่อนกว่าคาด ซึ่งจะกระทบต้นทุนการนำเข้าก๊าซ

2. แผน PDP ใหม่ ที่คาดว่าจะเผยแพร่ภายในปี 2567 โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงใน Energy mixed ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งอาจมีการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนสำคัญอย่าง พลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น เป็นต้น

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในไทยยังมีแนวโน้มเติบโต โดยเฉพาะในกลุ่มนอกระบบการไฟฟ้า (ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากทั้งในและนอกระบบการไฟฟ้า ขยายตัวราว 17% ต่อปี และในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 12%) ปัจจัยสำคัญมาจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของกลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งจากกลุ่มที่ผลิตเพื่อขายลูกค้าโดยตรง (Private PPA) และกลุ่มที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง แนวโน้มในระยะข้างหน้า คาดว่าจะยังเติบโตได้ต่อเนื่อง หากพิจารณาจากแผน PDP ใหม่ที่คาดว่าจะเปิดเผยในปี 2567 กำลังการผลิตของกลุ่มแสงอาทิตย์ และพลังงานลมเพิ่มขึ้นอย่างมากจากแผนเดิม (PDP2018Rev1) ขณะที่การผลิตไฟฟ้าจาก Biomass/Gas/Waste มีข้อจำกัดในการเติบโต เนื่องจากในปัจจุบันวัตถุดิบที่นำมาผลิตไฟฟ้าสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มีมูลค่าสูงกว่าได้ ผนวกกับราคารับซื้อไฟ PPA ยังไม่จูงใจ นอกจากการเติบโตในตลาดไทยแล้ว

สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศก็มีโอกาสเติบโตเช่นกัน ทั้งกลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม (ส่วนหนึ่งมาจากเป้าหมายการลด GHG และ Net zero pathway ของหลายประเทศทั่วโลก) ซึ่งอาจเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการลงทุนในตลาดต่างประเทศ เช่น ตลาดอินเดีย สำหรับกลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์ ตลาดเวียดนามและไต้หวัน สำหรับกลุ่มพลังงานลม เป็นต้น

ประเด็นสำคัญของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ต้องจับตา

1. ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อค่า Ft โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่รายได้อ้างอิงกับค่า Ft เช่น Private PPA SPP&VSPP (โดยเฉพาะกลุ่ม Biomass/Gas ที่มีต้นทุนอิงกับราคาสินค้าเกษตร)

2. ปัจจัยสนับสนุนจากแผน PDP ใหม่ ที่คาดว่าจะเผยแพร่ภายในปี 2567 โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงใน Energy mixed ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งอาจมีการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนสำคัญอย่าง พลังงานแสงอาทิตย์และลมมากขึ้น (มีโอกาสเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากแผน PDP2018Rev1 มาก)

3. นโยบายที่อนุญาตให้ดำเนินการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน อาทิ Third Party Assess (TPA) และ Smart grids (Off-grids) รวมถึงการเปิดให้มีตลาดซื้อ-ขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนบนแพลตฟอร์ม เป็นต้น

ESG ISSUE ของโรงไฟฟ้า จะมุ่งเน้นไปที่หลักสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) เนื่องจากความต้องการไฟฟ้าที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นด้วย ซี่งในปัจจุบัน พลังงานที่ใช้ผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) จากการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกมากถึง 31% ส่วนประเทศไทยนั้นมีสัดส่วนการปล่อย GHG จากการผลิตไฟฟ้าประมาณ 24%

ทั้งนี้ จากแรงกดดันด้านสิ่งแวดล้อม นำมาสู่เป้าหมาย Net zero emission ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าในไทยได้มีการปรับตัวให้การผลิตไฟฟ้ามีการลดการปล่อย GHG ลงและเพิ่มการสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ประกอบการผลิตไฟฟ้าในช่วงการเปลี่ยนผ่าน เช่น CCUS, Low-carbon hydrogen และ Ammonia, Energy storage system, Fuel cell และ Nuclear เป็นต้น

นอกจากนี้ ภาคการเงินทั่วโลกและไทย ได้มีการตอบรับนโยบาย ESG โดยส่งเสริม Green (Sustainable) Bond & Loan ให้กับโครงการพลังงานหมุนเวียน และนำ Taxonomy มาใช้สำหรับการจัดกลุ่มกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง โดยประเทศไทยได้เริ่มนำ Thailand Taxonomy มาใช้แล้วในภาคการขนส่ง และภาคการผลิตไฟฟ้า ที่เรียกว่า Thailand Taxonomy ระยะที่ 1


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ