Krungthai COMPASS มองว่า แนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรของไทยในระยะข้างหน้ามีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ดังนี้
- ความเสี่ยงจากภัยแล้ง โดยแม้ว่าในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยมีร่องมรสุมช่วยเติมปริมาณน้ำต้นทุนในช่วงปลายปีให้ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้พืชเกษตรสำคัญ เช่น ข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง ที่จะทำการเพาะปลูกช่วงหน้าแล้ง อาจได้รับผลกระทบน้อยกว่าที่คาดไว้เดิม แต่คาดว่าปริมาณน้ำต้นทุนหลังสิ้นสุดฤดูฝนในไปนี้ จะยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน จึงยังต้องติดตามความเสี่ยงจากภัยแล้งในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 อย่างใกล้ชิด
- มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้า ที่มุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น กฎหมายที่ห้ามนำเข้าหรือส่งออกสินค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายป่าไม้ เข้าสู่ตลาดของสหภาพยุโรป (EU Deforestation-free products) เช่น ยางพารา น้ำมันปาล์ม เนื้อวัว ไม้ กาแฟ โกโก้ และถั่วเหลือง รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ผลิตจากสินค้าเหล่านี้ เช่น ช็อกโกแลต เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ ถ่าน และสินค้าที่มีน้ำมันปาล์มเป็นส่วนประกอบ เป็นต้น ที่จะบังคับใช้ในปี 2567 อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปยังประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปได้น้อยลง หากไม่สามารถปฎิบัติได้ตามกฎเกณฑ์ดังกล่าว
- ความขัดแย้งของกลุ่มฮามาสและอิสราเอล แม้ผลกระทบต่อการส่งออกของไทยยังค่อนข้างจำกัด และเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกสินค้าจำเป็นในกลุ่มอาหาร แต่หากสถานการณ์ขยายวงกว้าง และทวีความรุนแรงขึ้น อาจทำให้ผู้ส่งออกที่พึ่งพาตลาดดังกล่าว ต้องเผชิญปัญหาความล่าช้าในการขนส่ง และรับภาระต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้น
- การส่งออกไปยังกลุ่มประเทศสงคราม อาจมีความเสี่ยงเรื่องการชำระเงิน หากสงครามมีการลุกลาม โดยผู้ประกอบการที่มีการส่งออกไปตลาดอิสราเอล อาจต้องทำประกันการส่งออก เพื่อป้องกันความเสี่ยงในกรณีที่ไม่สามารถต่อรองขอ Advance Payment จากผู้ซื้อได้ โดยประกันการส่งออกมีหลายรูปแบบกรมธรรม์ เช่น กรมธรรม์การส่งออกราย Shipment ซึ่งเหมาะกับผู้ประกอบการที่ส่งออกไม่มากครั้ง หรือกรมธรรม์การส่งออกแบบเหมาจ่ายรายปี
- แรงกดดันด้านต้นทุนการผลิต เช่น ค่าแรงงาน และอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูง อาจกดดันอัตรากำไรของผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ต้นทุนแรงงานที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าที่กระบวนการผลิตมีการใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง เป็นต้น รวมถึงต้นทุนทางการเงิน โดยเฉพาะรายกลางและรายย่อย ที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนต่ำกว่ารายใหญ่ อีกทั้งยังเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ค่อนข้างยากกว่ารายใหญ่ด้วย
Krungthai COMPASS ระบุว่า ภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตรของไทย ในไตรมาส 3/2566 มีมูลค่ารวม 12,207 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (420,727 ล้านบาท) หดตัว -0.3%YoY เทียบกับไตรมาส 2/2566 ที่หดตัว -6.3%YoY โดยได้รับแรงสนับสนุนมาจากการส่งออกไปยังตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดหลัก คิดเป็นสัดส่วน 24% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมด ที่ขยายตัวสูงถึง 28.0%YoY
อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังตลาดอื่นยังคงหดตัว โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 10% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมดหดตัว -7.6%YoY ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงในปีก่อนในกลุ่มสินค้าสำคัญ เช่น อาหารทะเลกระป๋อง ผลไม้กระป๋อง และอาหารสัตว์เลี้ยง
ส่วนตลาดสหภาพยุโรป ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 8% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมด หดตัว -11.8%YoY จากกำลังซื้อของผู้บริโภคในยุโรปหดตัวลง เนื่องจากเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ทำให้คู่ค้าส่วนใหญ่ชะลอคำสั่งซื้อออกไป
โดยหมวดสินค้าเกษตร กลับมาขยายตัวที่ 4.1%YoY ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าสำคัญที่ขยายตัวอย่างมาก ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง (61.4%YoY) และข้าว (27.0%YoY) ขณะที่กลุ่มสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา (-33.8%YoY) มันสำปะหลัง (-5.9%YoY) และไก่ (-8.8%)
ส่วนหมวดสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวต่อเนื่องที่ -5.2%YoY ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (-11.5%YoY) อาหารสัตว์เลี้ยง (-10.3%YoY) และน้ำตาลทราย (-20.1%YoY) ขณะที่กลุ่มสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ สิ่งปรุงรสอาหาร (24.4%YoY) ซึ่งพลิกกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส เนื่องจากคำสั่งซื้อของคู่ค้าในตลาดสหรัฐฯ ที่กลับมาขยายตัวดี จากการเร่งทำตลาดของผู้ประกอบการไทย
"ในระยะข้างหน้า การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรไทย ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ความเสี่ยงจากภัยแล้ง มาตรการเข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้า แรงกดดันจากต้นทุนค่าจ้างแรงงาน และอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะกดดันอัตรากำไรของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ หากสงครามระหว่างกลุ่มฮามาสและอิสราเอลขยายวงกว้าง และทวีความรุนแรง ก็อาจทำให้เกิดปัญหาความล่าช้าในการขนส่ง และเผชิญภาระต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้น" บทวิเคราะห์ ระบุ