ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีแนวโน้มเติบโตสอดรับไปกับกระแสยานยนต์ไฟฟ้า โดยความพร้อมของห่วงโซ่อุปทานจากการเป็นแหล่งผลิตรถยนต์และชิ้นส่วน รวมถึงฝีมือแรงงานที่ตอบโจทย์ ได้สร้างแรงดึงดูดให้บรรดาผู้ผลิตรถ EV จากค่ายต่าง ๆ สนใจเข้ามาตั้งโรงงานในไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยภาพรวม อีกทั้ง ยังเพิ่มโอกาสในการก้าวไปสู่การเป็น Regional EV hub ในอนาคตอีกด้วย
ทั้งนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไทยได้ทยอยพัฒนาระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งโลกอนาคต ซึ่งภาครัฐได้มีการดำเนินนโยบายเตรียมความพร้อมทั้งจากฝั่งผู้บริโภคและภาคธุรกิจ โดยนโยบายด้านอุปสงค์ที่ใช้กระตุ้นความสนใจและการเปิดรับจากผู้บริโภค ประกอบด้วย 1) มาตรการให้เงินอุดหนุนการซื้อรถ EV 2) การลดและยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า 100% ซึ่งจะเพิ่มตัวเลือกในตลาดให้มีความหลากหลายขึ้น และ 3) การส่งเสริมสถานีชาร์จสาธารณะ ซึ่งล่าสุดมีจำนวนราว 1,500 แห่ง กระจายตัวครอบคลุมเกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีการออกนโยบายด้านอุปทานที่มุ่งผลักดันและต่อยอดให้ไทยสามารถก้าวไปสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ EV ที่สำคัญของโลก ซึ่งหนึ่งในกลไกสำคัญคือ มาตรการจูงใจและดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตรถและแบตเตอรี่ EV โดยการดำเนินงานที่ผ่านมานับว่าเกิดประสิทธิผลอย่างชัดเจน เพราะปัจจุบันมีค่ายรถยนต์ที่ประกาศแผนการผลิตและประกอบรถ EV ในไทยแล้วเกือบ 20 โครงการ คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนรวมกว่า 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งหากทุกโครงการดำเนินการแล้วเสร็จ จะทำให้กำลังการผลิตรถ EV ของไทย ณ ปี 73 เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่กว่า 9 แสนคันต่อปี จากปัจจุบันที่มีการผลิตรถไฟฟ้าทุกประเภทรวมกันอยู่ที่ราว 9 หมื่นคันต่อปี
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ EV ก็มีแนวโน้มเติบโตควบคู่กันไปด้วย สะท้อนจากผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ทั้ง EA CATL และ SVOLT ก็ต่างสนใจร่วมลงทุนในไทยเช่นกัน อย่างไรก็ดี คาดว่าอัตรากำลังการผลิตในเบื้องต้นน่าจะยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้การประกอบรถ EV ของไทยในช่วงแรกยังจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าแบตเตอรี่เป็นหลัก
ระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังทยอยเกิดขึ้นอย่างครบวงจรภายในประเทศ นำมาซึ่งโอกาสในการต่อยอดอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้แข็งแกร่งขึ้น เพื่อก้าวไปสู่การเป็นฐานการผลิตและส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของภูมิภาค เช่นเดียวกับที่เราทำได้ในกลุ่มยานยนต์สันดาป ซึ่ง SCB EIC ได้วิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการก้าวไปเป็น Regional EV hub โดยใช้ข้อมูลตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตโลกและไทย (Input-Output table) เพื่อศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างการเติบโตของอุตสาหกรรม EV โลกที่มีผลต่อเศรษฐกิจและการปรับตัวของภาคธุรกิจไทย โดยมีข้อสรุปสำคัญ 2 ประเด็นดังนี้
1) การผลิตยานยนต์ EV ทุกๆ 1 แสนคัน จะทำให้เศรษฐกิจไทย (GDP) ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.2% หรือก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากการพึ่งพาปัจจัยการผลิตภายในประเทศราว 2.6 หมื่นล้านบาท โดยตัวเลขดังกล่าว นับรวมทั้งการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศและส่งออก อีกทั้งเป็นอัตราการเติบโตที่คาดว่าจะดีที่สุด (Better case) เมื่อไทยสามารถก้าวไปเป็น Regional EV hub โดยมีห่วงโซ่อุปทานการผลิตยานยนต์ EV ในเกือบทุกขั้นตอนเกิดขึ้นภายในประเทศอย่างครบวงจร นับตั้งแต่กระบวนการผลิตและประกอบเซลล์แบตเตอรี่ การใช้ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์จากผู้ประกอบการในท้องถิ่น (Local supplier) รวมถึงขั้นตอนการผลิตและประกอบรถยนต์ อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากำลังการผลิตรถ EV ของไทยจะสามารถก้าวกระโดดไปสู่ 9 แสนคันในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าตามแผนการลงทุนของค่ายผู้ผลิตรถ EV แต่การเติบโตของอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ EV ที่ต้องใช้ระยะเวลานานกว่าและกำลังการผลิตในเบื้องต้นที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อาจเป็นข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้ให้ผลดีดังกล่าวที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ประเมินไว้ได้
2) ผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (Auto supplier) ส่วนใหญ่สามารถเติบโตไปกับอุตสาหกรรมยานยนต์ EV แต่ก็มีผู้ประกอบบางกลุ่มที่จะตกขบวน ซึ่งผลการวิเคราะห์จาก SCB EIC ชี้ว่า กิจกรรมการผลิตยานยนต์ EV มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่ายานยนต์สันดาปประมาณ 15% (เมื่อเทียบกับมูลค่าเพิ่มการผลิตรถยนต์ ณ ปี 58) ซึ่งส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยคาดว่าอานิสงส์หลักจะตกไปอยู่กับผู้เล่นที่สามารถปรับตัวหรือมีการลงทุนรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม EV ภายในประเทศ ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ซึ่งเป็น Supplier เดิมของอุตสาหกรรมรถสันดาป อาทิ ยางล้อ เมล็ดพลาสติก อุปกรณ์ขับเคลื่อน และสายไฟ โดยรวมมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่องเพราะยังคงเป็นชิ้นส่วนที่จำเป็นในการผลิตรถยนต์ทั้ง 2 ประเภท
อย่างไรก็ตาม เราพบความเสี่ยงในกลุ่มผู้ประกอบการจำนวนกว่า 1,300 แห่งทั่วประเทศ หรือคิดเป็นกว่าครึ่งของอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจ SMEs และอยู่ในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบส่งกำลังและเชื้อเพลิง (Transmission system) เนื่องจากมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมนี้มีแนวโน้มปรับลดลงราว 3.8 พันล้านบาทหรือประมาณ 10% หากรถ EV สามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 15% ของยอดขายรถยนต์ทั่วโลกภายในปี 2025 (ปรับเพิ่มขึ้นจาก 10% ณ ปี 65)
SCB EIC ประเมินว่า การส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ EV จะส่งผลดีและมีนัยสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย แต่ก็ยังมีความท้าทายอีกไม่น้อยที่ต้องเร่งปรับปรุงและพัฒนาเพิ่มเติม เนื่องจากการต่อยอดและการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์จากผู้ผลิตรถสันดาปไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าก็นำมาซึ่งความเสี่ยงที่กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอีกจำนวนไม่น้อยกำลังจะต้องเผชิญ ดังนั้น แนวทางการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคการเงิน ล้วนมีบทบาทและต้องร่วมกันเร่งดำเนินการประกอบด้วย 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
1) การสร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานและระบบนิเวศน์ EV ให้เกิดขึ้นภายในประเทศอย่างครบวงจร เพื่อลดการนำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วนจากต่างประเทศ และเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากกิจกรรมการผลิตที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นเป็นหลัก โดยนอกจากจะมุ่งดึงดูดการลงทุนผลิตรถยนต์แล้ว ยังต้องส่งเสริมอุตฯ แบตเตอรี่ EV ให้เติบโตเท่าทันกับกำลังการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด
2) การสนับสนุนการพัฒนากระบวนการผลิตและคุณภาพสินค้าให้ตอบโจทย์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตรถ EV โดยเฉพาะอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีแนวโน้มเติบโตไปพร้อม ๆ กับตลาด EV อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มอเตอร์ไฟฟ้า ยางล้อ และชุดสายไฟ จำเป็นต้องขยายกำลังการผลิตให้สอดรับกับแนวโน้มอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผู้ผลิตอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน เช่น ระบบเบรกและการสั่นสะเทือน เป็นกลุ่มที่ควรส่งเสริมการยกระดับคุณภาพสินค้าให้ตอบโจทย์กับฟังก์ชันการใช้งานในยานยนต์ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไป
3) การขยายโอกาสให้ภาคธุรกิจสามารถเติบโตในตลาดใหม่ ๆ โดยธุรกิจกลุ่มเปราะบางจากแนวโน้มการเติบโตที่สวนทางกับกระแสยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ ผู้ผลิตท่อไอเสีย ถังเชื้อเพลิง และระบบส่งกำลัง ก็จำเป็นต้องได้รับการประคับประคองให้สามารถปรับตัวหรือขยายฐานลูกค้าไปยังตลาดใหม่ๆ ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ กลุ่มยานยนต์เชิงพาณิชย์ซึ่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ EV คาดว่าจะเกิดขึ้นช้ากว่ากลุ่มรถยนต์ส่วนบุคคล รวมถึงการเจาะตลาดอะไหล่ยนต์หรือ Replacement Equipment Manufacturing (REM) ซึ่งคาดว่ายังคงมีแนวโน้มเติบโตได้ตามอายุการใช้งานรถยนต์ที่ปรับเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ
ดังนั้น เรายังคงต้องเร่งสร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานและระบบนิเวศน์ยานยนต์และแบตเตอรี่ EV ให้สามารถเกิดขึ้นภายในประเทศอย่างครบวงจร เพื่อให้ทุกข้อต่อของกิจกรรมการผลิตสามารถเกิดขึ้นในท้องถิ่นและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจไทยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ