ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน ต.ค.66 อยู่ที่ระดับ 60.2 ปรับตัวดีขึ้นจากในเดือน ก.ย.ที่ 58.7 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และถือว่าดัชนีปรับตัวสูงสุดในรอบ 44 เดือน นับตั้งแต่ มี.ค.62
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 54.5 ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 57.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 69.2 ซึ่งดัชนีฯ ทุกรายการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 44 เดือนเช่นกัน
"ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนต.ค.นี้ ดีสุดในรอบ 44 เดือน นับตั้งแต่มี.ค.62 เป็นการทำลายสถิติทุกตัว ทั้งดัชนีเศรษฐกิจโดยรวม, ดัชนีหางานทำ และดัชนีรายได้อนาคต เพราะคนรู้สึกว่าเศรษฐกิจค่อยๆ ดีขึ้นใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด" นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ ระบุ
สำหรับปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ รัฐบาลดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชน เช่น การปรับลดค่าไฟฟ้า ลดราคาดีเซล เบนซิน ตลอดจนมาตรการวีซ่าฟรี แก่นักท่องเที่ยวจีน คาซัคสถาน อินเดีย และไต้หวัน, จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทยมากขึ้น หลังการเปิดประเทศ ส่งผลให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนมากขึ้นในประเทศ กิจกรรมเศรษฐกิจในภูมิภาคปรับตัวดีขึ้น, ราคาพืชผลเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นเกือบทุกรายการ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น กำลังซื้อในต่างจังหวัดปรับดีขึ้น, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับดัวลดลง, การส่งออกไทยเดือนก.ยง66 เพิ่มขึ้น 2.1%, ประชาชนคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการดูแลค่าครองชีพของรัฐบาลในช่วงปลายปี 66
ส่วนปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 66 เหลือโต 2.7% จากเดมคาด 3.5% เป็นผลจากการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัว จากผลกระทบการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ, SET Index เดือนต.ค.66 ลดลง 89.60 จุด บรรยากาศการลงทุนทั่วโลก ยังมีความกังวลการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลก เพื่อสกัดเงินเฟ้อ, ความกังวลสถานการณ์เอลนีโญ และภัยแล้ง ที่จะกระทบต่อการใช้น้ำภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม, ความกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน, อิสราเอล-ฮามาส ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกทรงตัวสูง กระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า, เงินบาท ณ สิ้นต.ค.66 ปรับตัวอ่อนค่าจากเดือนก.ย. สะท้อนว่ายังมีการไหลออกสุทธิของเงินตราต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี ในเดือนต.ค.นี้ ยังพบว่าดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว ปรับตัวเกินระดับ 100 เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี โดยอยู่ที่ระดับ 102.9 ซึ่งกลไกด้านการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปีนี้
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า แม้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนต.ค.66 จะอยู่ระดับสูงสุดในรอบ 44 เดือน แต่ยังมีปัจจัยกดดันเชิงลง ที่ทำให้ความเชื่อมั่นไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก เช่น ปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์, การส่งออกที่ยังฟื้นตัวได้ไม่รวดเร็ว รวมทั้งนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ยังไม่ชัดเจนมากนัก ซึ่งจะมีผลต่อมุมมองและทิศทางเศรษฐกิจของไทยในปี 67
ดังนั้น หากประชาชนได้เห็นความชัดเจนที่เป็นรูปธรรมของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท, นโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ก็จะทำให้พอจะประเมินแนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจไทยในปีหน้าได้
โดยทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 67 อาจจะยังไม่เด่นชัดมากนัก เพราะดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะปรับสูงขึ้น แต่ยังไม่ถือว่าโดดเด่นเต็มที่ คนยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยไปจนถึงไตรมาส 1/67 ถ้ามีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาชัดเจน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้นได้ในอัตราเร่ง
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีหน้านั้น ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ยังคงประมาณการ GDP ปี 67 ไว้ที่ 3.5% (กรอบ 3-4%) ตามกรอบเดิมไว้ก่อน โดยจะรอฟังความชัดเจนจากการแถลงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล และการใช้งบประมาณในการทำนโยบายดังกล่าวก่อน หลังจากนั้นจึงจะสามารถกำหนดทิศทางเศรษฐกิจไทยในปีหน้าได้ชัดเจนขึ้น
"ความเชื่อมั่นผู้บริโภคฯ มีสัญญาณที่ใช้ได้ แต่ยังไม่โดดเด่น เพราะแนวนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ยังไม่มีความชัดเจน ดังนั้นต้องรอดูว่า 1.มาตรการดิจิทัลวอลเล็ตจะเป็นอย่างไร 2.ค่าแรงขั้นต่ำ เงินเดือนข้าราชการจะเป็นอย่างไร เพราะเหล่านี้ผูกพันกับการใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน ดูว่านโยบายเหล่านี้ต้องใช้งบประมาณเท่าไร และจะเหลือวงเงินไว้ใช้สำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจเท่าไร จะเป็นตัวบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยในปีหน้าได้" นายธนวรรธน์ กล่าว