น.สพ.ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลัง นายมาซาฮิโกะ มาเอดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารภูมิภาคเอเชีย บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น และนายกลินท์ สารสิน ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด พร้อมคณะผู้บริหาร เข้าเยี่ยมคารวะ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ว่า นายกรัฐมนตรีได้ยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลตระหนักดีถึงความสำคัญของบริษัทยานยนต์ญี่ปุ่นห่วงโซ่อุปทานของไทย ไม่ใช่เพียงบริษัทโตโยต้าเท่านั้น แต่รวมไปถึงทุกบริษัทยานยนต์ญี่ปุ่น
ทั้งนี้ ด้วยบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป รัฐบาลจึงได้เตรียมความพร้อม ทั้งการเชิญชวนการลงทุนต่าง ๆ การหาแนวทางและมาตรการที่เหมาะสม เพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการ โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าจะมีการหารือ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ร่วมกันในอนาคตให้ครอบคลุม ทั้งปัจจัยภายใน คือ การปรับปรุงโครงสร้าง (Internal structure) และปัจจัยภายนอก คือ การเพิ่มมาตรการหรือแรงจูงใจ (Incentive) ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือน ธ.ค.66 ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีกำหนดการที่จะเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น
ขณะที่ นายมาซาฮิโกะ มาเอดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารภูมิภาคเอเชีย บริษัท โตโยต้าฯ กล่าวว่า บริษัทเล็งเห็นถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจและการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ในไทยที่มีความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะกลุ่มรถกระบะและ Eco-Car ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งไทยมีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยจึงกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกไปทั่วโลกโดยยืนยันว่าจะร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน ควบคู่กับการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมไปถึงแนวทางการผลิตยานยนต์ทั้งประเภทรถยนต์สันดาป (ICE) ไปจนถึงรถยนต์ไฟฟ้า ทั้ง HEV, PHEV, BEV และ FCEV เพื่อรักษาห่วงโซ่อุปทานและภาคการส่งออกอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย
โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันในประเด็นด้านนโยบายและมาตรการยานยนต์ของไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายด้าน EVs พลังงานสะอาด สนับสนุนให้บริษัทต่างๆ ให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาดมากขึ้น ซึ่งเชื่อมั่นว่า จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดการลงทุนใหม่ ๆ และมุ่งเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอันดับหนึ่งในอาเซียน
ขณะที่ผู้บริหารบริษัทโตโยต้าเห็นพ้องที่จะสนับสนุนนโยบายของไทย โดยขอให้มีการสนับสนุนระยะยาวผ่านสิทธิประโยชน์ทางภาษีและเงินอุดหนุน เพื่อรับประกันการผลิตและการขายรถยนต์ทั้งการขายในประเทศและการส่งออก รวมถึงเสนอแนะให้รัฐบาลมีมาตรการที่ครอบคลุมถึงการรองรับยานพาหนะที่หมดอายุการใช้งาน (ELV) ซึ่งจะมีผลต่อการฟื้นฟูห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งหมดตามนโยบายพลังงานสะอาดของไทยอีกด้วย โดยนายกรัฐมนตรีให้ความสนใจในประเด็นดังกล่าว ซึ่งจะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหารือร่วมกัน เพื่อหามาตรการที่เหมาะสมร่วมกัน
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า รัฐบาลจะสนับสนุนการลงทุนและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ สร้างผลประโยชน์ที่จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งร่วมกันได้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อประโยชน์ร่วมกันต่อไป