Krungthai COMPASS ประเมินว่า ภาคการท่องเที่ยวของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2567 จะเร่งตัวแตะ 35 ล้านคน หรือฟื้นตัว 88% เมื่อเทียบกับปี 2562 จากความต้องการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง
โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น กลุ่มอาเซียน ยุโรป ตะวันออกกลาง จะกลับเข้าสู่ระดับปกติ ขณะที่นักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นกำลังหลักให้กับภาคการท่องเที่ยวไทย ยังฟื้นตัวได้ราว 69% เมื่อเทียบปี 2562 จากภาวะเศรษฐกิจในประเทศจีนที่คาดว่าจะชะลอตัวที่ระดับ 4.2% สำหรับระดับการฟื้นตัวของรายได้ภาคการท่องเที่ยวไทย ยังฟื้นตัวได้ต่ำกว่าจำนวนนักท่องเที่ยว "โดยภาพรวม มูลค่าตลาดการท่องเที่ยวทั้งปี 2567 จะอยู่ที่ประมาณ 2.52 ล้านล้านบาท หรือฟื้นตัวราว 84% เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากโครงสร้างนักท่องเที่ยวต่างชาติรายสัญชาติที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะสัดส่วนนักท่องเที่ยวกลุ่มอาเซียนที่เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ค่อนข้างมาก" บทวิเคราะห์ ระบุ อย่างไรก็ดี จากแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในปี 2566 ที่ยังฟื้นตัวต่ำกว่าที่หลายภาคส่วนประเมินไว้ ทำให้รัฐบาลไทยออกมาตรการวีซ่า-ฟรี (Visa Free) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนให้เดินทางเข้ามาไทยเพิ่มขึ้น โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่า มาตรการวีซ่า-ฟรี ในช่วงเดือนต.ค.66 - ก.พ.67 จะช่วยให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาไทยเพิ่มขึ้นราว 4 แสนคน และสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีแนวโน้มที่จะขยายมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพิ่มเติม โดยล่าสุดได้ขยายระยะเวลายกเว้นการตรวจลงตราให้นักท่องเที่ยวรัสเซียได้สูงสุดจากเดิม 30 วัน เป็น 90 วัน และออกมาตรการวีซ่า-ฟรี เฟส 2 เพิ่มเติมสำหรับนักท่องเที่ยวอินเดีย และไต้หวันอีกด้วย สำหรับในปี 2568 ภาคการท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ระดับปกติ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาเท่าระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่ 40.0 ล้านคนได้ โดยนักท่องเที่ยวจีนจะฟื้นตัวได้มากกว่า 90% เมื่อเทียบกับปี 2562 ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวม จะฟื้นตัวได้สูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว ส่งผลให้ตลาดการท่องเที่ยวไทยในปี 2568 จะมีมูลค่าราว 2.98 ล้านล้านบาท ซึ่งกลับมาใกล้เคียงกับปี 2562 แบ่งเป็น รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.01 ล้านล้านบาท และรายได้จากนักท่องเที่ยวไทย 0.97 ล้านล้านบาท
หากมองไปข้างหน้า ภาคการท่องเที่ยวไทยยังมีปัจจัยท้าทายที่ยังคงต้องติดตาม ทั้งในด้าน 1. รายได้ภาคการท่องเที่ยวที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ในช่วงปี 2567 ซึ่งมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังต่ำกว่าปี 2562 โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่ยังฟื้นตัวได้ค่อนข้างต่ำ ส่งผลให้รายได้จากภาคการท่องเที่ยวจะยังไม่กลับไปใกล้ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ดังนั้น การเร่งทำการตลาดในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูง เช่น กลุ่ม Digital Nomad ที่มีระยะเวลาพำนักนานกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป หรือนักท่องเที่ยวกลุ่ม Medical & Wellness ที่มีศักยภาพในด้านการใช้จ่ายในระดับสูง ควบคู่ไปกับการทำตลาดนักท่องเที่ยวในกลุ่ม Mass Tourism จะช่วยส่งเสริมให้รายได้ของภาคการท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีขึ้น
โดยข้อมูลผลการศึกษาเรื่อง Revitalising Thailand?s tourism sector ชี้ให้เห็นว่า หากไทยสามารถเพิ่มมูลค่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก 48,000 บาท/คน เป็น 60,000 บาท/คน ตามโมเดลการท่องเที่ยวใหม่ ภายใต้ 2 หลักการ ได้แก่ Value over volume approach และ Diversification approach จะทำให้ไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่ากับระดับก่อนเกิดโควิดที่ 1.9 ล้านล้านบาท ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวเพียง 32 ล้านคน
2. ภาพลักษณ์เรื่องความปลอดภัยของประเทศไทย นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญด้านปลอดภัยเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาเลือกประเทศเพื่อการท่องเที่ยว โดยข้อมูลจาก The Travel & Tourism Competitiveness Report 2021, World Economic Forum ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยถูกจัดอันดับด้านความปลอดภัยอยู่ในลำดับที่ 92 จากทั้งหมด 117 ประเทศ ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนสำคัญของการท่องเที่ยวไทย
ดังนั้น การเร่งสร้างระบบความปลอดภัย เช่น ระบบแจ้งเตือน Emergency Alert ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน จึงเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่กำลังให้ความสนใจกับประเด็นดังกล่าวอย่างมาก
3. ผลกระทบจากสงครามอิสราเอล-ฮามาส เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในแถบตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันขนาดใหญ่ ดังนั้น กรณีที่ภาวะสงครามยืดเยื้อหรือขยายวงกว้างออกไป อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญในการเดินทางท่องเที่ยว โดยเฉพาะค่าตั๋วเครื่องบินโดยสาร โดยการที่ราคาตั๋วเครื่องบินปรับเพิ่มขึ้น อาจมีผลต่อการตัดสินใจในการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น อาจปรับแผนการเดินท่องเที่ยวจากการเดินทางระยะไกล มาเป็นการท่องเที่ยวในระยะที่สั้นลง
นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวชาวอิสราเอล แม้จะเป็นกลุ่มที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยไม่มากนัก โดย 9M/2566 มีจำนวนเพียง 186,231 คน คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.9% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด แต่เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง โดยมีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปถึง 82,900 บาท ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 73% และในระยะข้างหน้า หากการสู้รบขยายวงกว้างอาจกระทบต่อการตัดสินใจเดินทางของกลุ่มนักท่องเที่ยวตะวันออกกลาง ส่งผลให้ประเทศไทยอาจต้องสูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวไปบางส่วน
"ภาคการท่องเที่ยวไทย ควรเร่งทำการตลาดในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูง เช่น กลุ่ม Digital Nomad หรือ Medical & Wellness รวมทั้ง เร่งสร้างระบบความปลอดภัย เช่น ระบบแจ้งเตือน Emergency Alert ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน ที่จะช่วยสร้างรายได้ให้ภาคการท่องเที่ยวไทย และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางมายังไทยมากขึ้น" บทวิเคราะห์ ระบุ