BOI เคาะมาตรการยกระดับอุตฯ ยานยนต์ ยกเว้นภาษี 3 ปี หนุนเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 9, 2023 15:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี รมว.ต่างประเทศ เป็นประธาน ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ นำระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ (Automation and Robotics) มาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตสำหรับการผลิตรถยนต์ ทั้งแบบสันดาป ภายใน ไฮบริด และปลั๊กอินไฮบริด

โดยครอบคลุมทั้งกิจการเดิม และการลงทุนใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นฐานผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในวงเงินร้อยละ 50 ของเงินลงทุนในระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ และในกรณีที่โครงการใช้เครื่องจักรระบบอัตโนมัติในประเทศ ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 30% ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในวงเงิน 100% ของเงินลงทุนในระบบดังกล่าว ทั้งนี้ ต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี 2567

"อุตสาหกรรมยานยนต์ ถือเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในด้านการส่งออก การจ้างงาน และจำนวนผู้ผลิตในซัพพลายเซนของอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มีจำนวนมากกว่า 2,300 ราย โดยปี 2565 ที่ผ่านมา ไทยมีการผลิตรถยนต์มากถึง 1.9 ล้านคัน เป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียน และอันดับ 10 ของโลก" นายนฤตม์ กล่าว

พร้อมระบุว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กำลังก้าวสู่ช่วงเวลาสำคัญในการเปลี่ยนผ่าน ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อก้าวสู่เทคโนโลยีใหม่ มาตรการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการให้สามารถแข่งชันได้ และสามารถก้าวผ่านช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีได้อย่างมั่นคง

เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่าการส่งออกรวม 1.02 ล้านล้านบาท ขยายตัว 8.2 %เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีสัดส่วน 14% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

โดยมีแรงงานที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม 8-9 แสนคน และมีจำนวนผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทานกว่า 2,300 ราย ที่มีส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรม แบ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์กว่า 20 ราย ผู้ผลิตชิ้นส่วนลำดับที่ 1 (Tler 1) 530 ราย ผู้ผลิตชิ้นส่วนลำดับที่ 2 (Tier 2) และลำดับที่ 3 (Tier 3) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ SMES ประมาณ 1,750 ราย

*อนุมัติคำขอลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ)

นอกจากนี้ บอร์ดบีโอไอ ยังได้อนุมัติคำขอรับส่งเสริมการลงทุนของบริษัท น้ำตาลทิพย์สุโขทัย จำกัด มูลค่าเงินลงทุน 2,991 ล้านบาท ตั้งที่จังหวัดสุโขทัย และบริษัท น้ำตาลนิวกว้างนหลี จำกัด มูลค่าเงินลงทุน 4,185 ล้านบาท ตั้งที่จังหวัดสระแก้ว โดยได้รับสิทธิประโยชน์ตามนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ