นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ในเดือนเม.ย.ธปท.เริ่มเห็นสัญญาณการเกิด second round effect จากการเร่งตัวของราคาอาหารสดและน้ำมัน ซึ่งทำให้การส่งผ่านอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ไปยังเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนนี้ค่อนข้างแรงจากภาวะปกติเงินเฟ้อที่ปรับฤดูกาลจะไม่สูงมาก โดยเทียบกับ 2 เดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 0.3% แต่ล่าสุดปรับขึ้นมาเป็น 0.5-0.6% กระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเร่งขึ้น จากนั้นจะส่งผ่านไปยังการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการ ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นซึ่งจะทำให้เกิดภาวะการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อรอบใหม่
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันเฉลี่ยเดือนเม.ย.เร่งตัวสูงแตะระดับ 103 เหรียญต่อบาร์เรล เคลื่อนตัวเข้าใกล้ระดับราคาสมมุติฐานในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อกรณีเลวร้ายสุดที่ 107 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ประเมินว่าเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้จะขยายตัว 4-5% และเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัว 1.5-2.5%
“ค่าครองชีพสูงมีผลต่ออุปสงค์ในประเทศ ซึ่งถ้ามีการปรับตัวขึ้นอุปสงค์ก็จะชะลอลง ซึ่งเรากังวลเรื่องเงินเฟ้อมาตลอด เพราะไม่รู้ราคาน้ำมันจะเร่งขึ้นไปถึงไหน แต่แม้เฟ้อสูงแต่เศรษฐกิจปัจจุบันก็ยังไปได้ดีอยู่ โดยเชื่อว่าไตรมาส 2 น่าจะโตได้ 6%" นางอมรา ระบุ
นางอมรา กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)คงไม่ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ถ้าไม่เห็นความร้อนแรงของเศรษฐกิจ ขณะที่การเร่งตัวอัตราเงินเฟ้อปัจจุบันเกิดขึ้นจากแรงกดดันด้านซัพพลาย แต่การขึ้นดอกเบี้ยคือการเข้าไปดูแลดีมานน์ โดย กนง.ก็จะพิจารณาภาพรวมอีกครั้งหนึ่งก่อนจะมีการประชุมในวันที่ 21 พ.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อไทยยืนระดับสูง แต่ยังไม่สูญเสียความสามารถการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งการค้า เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าไทย
--อินโฟเควสท์ โดย ธปฦ/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--