นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงผลการประชุมระดับปลัด เพื่อพิจารณาร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรมว.คลังเอเปค (APEC Finance Ministers? Meeting: APEC FMM) (ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ) ครั้งที่ 30 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุม รมว.คลังเอเปค พิจารณาให้การรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566
โดยที่ประชุมฯ สามารถบรรลุฉันทามติในเนื้อหาส่วนใหญ่ ซึ่งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเงินการคลังระหว่างกัน เพื่อขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปคอย่างครอบคลุมและยั่งยืน โดยร่างแถลงการณ์ร่วมฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ประเด็นเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภูมิภาคเอเปค ที่ประชุมได้หารือถึงภาวะเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเปค มีสัญญานการขยายตัวที่ดีขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อที่ลดลง ในขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมยังมีการชะลอตัว อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกและภูมิภาคเอเปคระยะกลาง ยังคงอ่อนแอกว่าในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งนี้ เขตเศรษฐกิจเอเปค จะตระหนักถึงความสำคัญในการการดำเนินนโยบายร่วมกันในภูมิภาค เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่เสรี เปิดกว้าง ยุติธรรมโปร่งใส ครอบคลุม และคาดการณ์ได้
2. เศรษฐศาสตร์อุปทานสมัยใหม่ ที่ประชุมมุ่งมั่นในความพยายามในการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ปัญหาความล้มเหลวของตลาดที่ขัดขวางอุปทานของปัจจัยการผลิตทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งรวมถึงอุปทานแรงงาน ทุนมนุษย์ โครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ การวิจัยและพัฒนา และคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่น ครอบคลุม และยั่งยืนในระยะยาว
3. การเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ประชุมมุ่งมั่นที่จะบรรลุการเติบโตอย่างยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนความพยายามในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของเขตเศรษฐกิจเอเปค ไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ยั่งยืน ยุติธรรม ต้นทุนต่ำ และครอบคลุม เพื่อเป็นการดำเนินการตามเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bangkok goals on Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งสะท้อนการสานต่อผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565
4. สินทรัพย์ดิจิทัล ที่ประชุมตระหนักถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีสินทรัพย์ดิจิทัล และมุ่งมั่นในการพยายามที่จะสร้างมาตรฐานระดับสูงของกฎระเบียบเพื่อกำกับดูแล และส่งเสริมการสร้างเสถียรภาพทางการเงินภายใต้ภูมิทัศน์ของสินทรัพย์ดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศของสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีความยืดหยุ่น ครอบคลุม และเป็นนวัตกรรมมากขึ้น
นายพรชัย กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมฯ ยังไม่สามารถบรรลุฉันทามติประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของเขตเศรษฐกิจเอเปค ซึ่งอาจนำไปสู่การออกแถลงการณ์ประธานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 30 (Chair?s Statement of the 30th APEC Finance Ministers? Meeting) เพื่อเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม APEC FMM แทนการออกแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 30