นายสมชัย สัจจพงษ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยฐานะการคลังเบื้องต้นตามระบบ สศค. (ระบบ Government Finance Statistics: GFS) สรุปได้ว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2551 มีเม็ดเงินสุทธิจากภาครัฐบาลอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวน 67,248 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีแรกมีเม็ดเงินสุทธิจากภาคการคลังถูกอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจรวมทั้งสิ้น 156,871 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.7 ของ GDP ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตได้ในระดับร้อยละ 5.0 — 6.0 ในปี 2551
ทั้งนี้ ดุลการคลังภาครัฐบาลขาดดุล 67,248 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.7 ของ GDP) โดยเป็นการขาดดุลของรัฐบาล 72,801 ล้านบาท ในขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เกินดุล 5,553 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.1 ของ GDP)
ด้านรายได้ รัฐบาลมีรายได้ 328,535 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 3.6 ของ GDP) เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.8 โดยรายได้ภาษีที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนในอัตราสูงได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีสุรา ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น
ด้านรายจ่าย รัฐบาลมีการใช้จ่ายทั้งสิ้น 424,740 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 4.6 ของ GDP) ลดลง 7,592 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่มีรายจ่ายทั้งสิ้น 432,332 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 5.1 ของ GDP) ทั้งนี้ เนื่องจากในปีที่ผ่านมา พรบ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีมีผลบังคับใช้ล่าช้า ดังนั้น หลังจากเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2550 จึงทำให้การเบิกจ่ายเงินงบประมาณเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2550 เป็นต้นมา
ดุลงบประมาณ ผลจากการที่รายจ่ายรัฐบาลสูงกว่ารายได้ส่งผลให้ดุลงบประมาณในช่วงไตรมาสที่ 2 ขาดดุล 96,205 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่ขาดดุลจำนวน 124,682 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 22.8 เป็นผลมาจาก พรบ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 บังคับใช้ล่าช้า
รายจ่ายเงินกู้ต่างประเทศ ประกอบด้วย Project Loans และ Structural Adjustment Loans (SAL) มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 206 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 54.4 เนื่องจากการเบิกจ่ายเงินกู้ SAL ยังเบิกจ่ายไม่เต็มที่
ดุลบัญชีนอกงบประมาณ (ประกอบด้วยกองทุนนอกงบประมาณและเงินฝากนอกงบประมาณ) เกินดุล 23,610 ล้านบาท เกินดุลลดลงเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่เกินดุล 44,783 ล้านบาท เนื่องจากได้มีการเบิกจ่ายงบประมาณเงินอุดหนุนให้แก่กองทุน ฯ ค่อนข้างมากในช่วงไตรมาสที่ 1 จึงทำให้การเบิกจ่ายเงินอุดหนุนในช่วงไตรมาสที่ 2 ลดลง ในขณะที่มีรายจ่ายเงินฝากนอกงบประมาณเพิ่มขึ้น เช่น รายจ่ายจากเงินบำรุงโรงพยาบาล เป็นต้น
ดุลการคลังของรัฐบาล เมื่อรวมดุลงบประมาณและดุลบัญชีนอกงบประมาณและหักรายจ่ายจากเงินกู้ต่างประเทศออกแล้ว ส่งผลให้ดุลการคลังของรัฐบาลขาดดุลทั้งสิ้น 72,801 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.8 ของ GDP ) ในขณะที่ช่วงเดียวกันปีที่แล้วขาดดุล 80,352 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.9 ของ GDP) สำหรับดุลการคลังเบื้องต้นของรัฐบาล (Primary Balance) ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2551 ขาดดุลทั้งสิ้น 37,809 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.4 ของ GDP) ขาดดุลลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่ขาดดุล 49,012 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.6 ของ GDP) หรือลดลงร้อยละ 22.9
ในส่วนของ อปท. คาดว่าจะมีรายได้ทั้งสิ้น 72,138 ล้านบาท และมีการใช้จ่ายทั้งสิ้น 66,585 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลการคลัง อปท. เกินดุล 5,553 ล้านบาท โดยเกินดุลลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 711 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11.4
นายสมชัย กล่าวต่อว่า ผลจากการดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลของรัฐบาลส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2551 ภาครัฐบาลขาดดุลการคลังรวมทั้งสิ้น 156,871 ล้านบาท ขาดดุลเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 75,628 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 93.1
--อินโฟเควสท์ โดย คลฦ/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--