น.สพ.ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้กล่าวปาฐกถาในการประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปค (APEC CEO Summit 2023) ในช่วงสัปดาห์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders? Week: AELW) ประจำปี 2566 ที่นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า ประเทศไทยพร้อมร่วมมือทางธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ซึ่งด้วยบรรยากาศทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ รัฐบาลกำลังผลักดันอย่างเต็มที่ ผ่านนโยบายทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่จะมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง โดยให้ความสำคัญกับการขยายการเติบโต กระตุ้นความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับตำแหน่งของประเทศในฐานะจุดหมายปลายทางที่โดดเด่นสำหรับการค้าและการลงทุน การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและดึงดูดการลงทุน ส่งเสริมนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการเติบโตและการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย
"นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า ขณะนี้ถึงเวลาที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว และไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรทุกรายจากทั่วโลก เพื่อพบปะและพูดคุยกับผู้นำธุรกิจ APEC ที่โดดเด่นจากทั่วภูมิภาค ซึ่งถือเป็นผู้ขับเคลื่อนที่สำคัญทางเศรษฐกิจ เอเปคถือเป็นภาคส่วนที่ทรงพลัง เป็นที่ตั้งของประชากรมากกว่า 1 ใน 3 ของโลก และสามารถสร้างการค้าเกือบครึ่งหนึ่งของโลก" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ
ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เอเปคประสบความสำเร็จในการช่วยให้ผู้คนหลายล้านคน หลุดพ้นจากความยากจน ด้วยการเปิดการค้าและการลงทุน ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือกับชุมชนธุรกิจ ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะกับ ABAC ซึ่งถือเป็นความพิเศษและเป็นรากฐานสำหรับความสำเร็จร่วมกันในปัจจุบัน
น.สพ.ชัย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้แสดงวิสัยทัศน์และเสนอแนวทางความร่วมมือ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยเน้นย้ำ 3 ด้านสำคัญ ดังนี้
1. ด้านความยั่งยืน
ไทยมีเป้าหมายกรุงเทพว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG (Bangkok Goals on BCG Economy) ซึ่งผู้นำเอเปคทุกคนได้นำมาใช้เมื่อปีที่แล้ว ถือเป็นแนวทางที่มีความจำเป็นอย่างมาก และไทยยินดีที่ได้มีบทบาทนำต่อเอกสารสำคัญฉบับนี้ ซึ่งในปีนี้ สหรัฐอเมริกาในฐานะเจ้าภาพเอเปค ได้สานต่อ ทำให้การบรรลุเป้าหมายกรุงเทพฯ ประสบความสำเร็จ และมีความสำคัญสูงสุด
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดตัว BCG Pledge โดย ABAC ซึ่งกระตุ้นให้ทุกบริษัทต้องลงนามและมีส่วนร่วม รวมทั้งยินดีที่ได้ทราบว่า NCAPEC (National Center for APEC) ได้จัดการประชุม Sustainable Future Forum ขึ้นเป็นครั้งแรกอีกด้วย พร้อมหวังว่าจะมีความก้าวหน้าที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ ไทยมีความภาคภูมิใจในความพยายามอย่างต่อเนื่อง ที่จะสร้างความยั่งยืน ซึ่งปี 2566 นี้ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 43 ของ SDG Index ที่หนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงมุ่งมั่นที่จะต่อยอดด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว และการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน จะเพิ่มความพยายามเป็น 2 เท่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และทำให้การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065
ด้วยเหตุนี้ ไทยจึงส่งเสริมด้านการเงินสีเขียวอย่างแข็งขัน ผ่านการออกพันธบัตร พันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability -Linked Bonds) เพื่อกระตุ้นการเติบโตของตลาดพันธบัตรสีเขียว ขณะเดียวกัน สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าด้วย เป้าหมายคือการสร้างห่วงโซ่อุปทานของ EV ที่ครอบคลุม ซึ่งรวมถึงยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ชิ้นส่วนและส่วนประกอบทั้งหมด นอกจากนี้ จะปรับปรุงระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจดังกล่าว เช่น การให้สิทธิพิเศษการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ การสร้างศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ หลักสูตรการพัฒนาแรงงาน และการขยายโครงสร้างพื้นฐานสถานีชาร์จ เป็นต้น
2. ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
การเกิดขึ้นของเทคโนโลยี เช่น generative AI, Blockchain และ Internet of Things (IoT) กำลังเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางธุรกิจ กระบวนการผลิต และชีวิตประจำวัน ซึ่งความก้าวหน้าเหล่านี้ นำมาซึ่งโอกาสใหม่ ๆ สำหรับการเติบโต การร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อให้ทุกเขตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา สามารถเข้าถึงโอกาสได้ และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม
ขณะเดียวกัน ต้องลงทุนและปรับปรุงระบบการศึกษา เพื่อให้พลเมืองมีทักษะที่จำเป็นต่อการเติบโตในยุคดิจิทัลที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการทำงานร่วมกันอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ในด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และการวิจัยระดับแนวหน้า เพื่อปูทางไปสู่ความก้าวหน้าในอนาคต
โดยในประเทศไทย รัฐบาลกำลังวางแผนที่จะใช้เทคโนโลยีบล็อคเชน เพื่อดำเนินโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) ซึ่งสิ่งนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของเราเท่านั้น แต่ยังจะยกระดับการรับรู้ และทักษะด้านดิจิทัลอีกด้วย โดยในระยะยาว รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลดิจิทัล ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของบริการสาธารณะของประเทศ รวมทั้งพร้อมจะต้อนรับการลงทุน และแรงงานที่มีทักษะ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิทัล
3. ด้านการค้าและการลงทุน
เอเปคมีบทบาทสำคัญในการขยายการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คนนับล้าน ซึ่งตัวเลขสะท้อนเป็นผลในตลอดหลายปีที่ผ่านมา การค้าทั่วทั้ง APEC เพิ่มขึ้นเกือบสี่เท่าภายใน 2 ทศวรรษ จาก 7.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี ค.ศ. 2001 ขึ้นมาเป็นกว่า 27 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี ค.ศ. 2021 ซึ่งเขตการค้าเสรีเอเชีย - แปซิฟิก (FTAAP) ยังคงเป็นปณิธานที่สำคัญ และจะทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย รวมทั้งการเร่งสถาปัตยกรรมการค้าทวิภาคีและภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อสร้างพันธมิตรใหม่ และไทยจะยกระดับ FTA เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อเสริมสร้างการเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจร่วมกัน ขณะเดียวกันได้เปิดโอกาสทางการค้าและการลงทุนใหม่ ๆ ให้กับพันธมิตรของเราอีกด้วย
นายกรัฐมนตรี ระบุว่าไทยตระหนักถึงความจำเป็นในการรักษาห่วงโซ่อุปทานให้เปิดกว้าง และยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยให้ความสำคัญกับการปรับปรุงการเชื่อมต่อทางกายภาพ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงการพัฒนาสนามบินหลายแห่งทั่วทั้งเขตเศรษฐกิจของเรา
นอกจากนี้ จะใช้ประโยชน์จากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ในภูมิภาคนี้อย่างเต็มที่ และกำลังดำเนินโครงการขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาสะพานข้ามทะเล เพื่อเชื่อมต่อทะเลอันดามันกับอ่าวไทย (Landbridge) ซึ่งจะช่วยลดเวลาการเดินทางระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้า และโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคภายในทศวรรษนี้
โดยในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพบปะกับคู่ค้าทางธุรกิจระหว่างการเยือนต่างประเทศ ซึ่งจะนำทีมผู้นำธุรกิจจากประเทศไทย เพื่อสร้างเครือข่ายและการจับคู่ธุรกิจเพิ่มเติม ที่นครซานฟรานซิสโก พร้อมมีความยินดีที่จะทำงานร่วมกันและสร้างความก้าวหน้าที่มีความหมายต่อไป สำหรับผู้คนในปัจจุบันและรุ่นต่อ ๆ ไป โดยเน้นย้ำว่า ถึงเวลาแล้วที่จะลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้น ซึ่งไทยพร้อมก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว และจะขยายความร่วมมือร่วมกันต่อไป