น.ส.อัจจนา ล่ำซำ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบแบบจำลองและวิเคราะห์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในไตรมาส 3/66 ระบบธนาคารพาณิชย์ มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง
สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 ปี 2566 หดตัวเล็กน้อยที่ 0.9% จากระยะเดียวกันปีก่อน จากการทยอยชำระคืนหนี้ของภาคธุรกิจ หลังเร่งขยายตัวต่อเนื่องเพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงโควิด โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ธุรกิจขนาดใหญ่กลุ่มส่งออก และภาครัฐ ประกอบกับมีการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ของธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ดี สินเชื่อธุรกิจยังขยายตัวได้ โดยหลักในธุรกิจกลุ่มโฮลดิ้ง และก่อสร้าง
ขณะที่สินเชื่อรายย่อย ขยายตัวชะลอลงในเกือบทุกพอร์ตสินเชื่อ โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ขยายตัวชะลอลงที่ 2.4% สอดคล้องกับความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ชะลอลงในขณะนี้ และต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ซื้อบ้านโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงรายได้ต่ำ สินเชื่อบัตรเครดิต -16.2% สินเชื่อส่วนบุคคล ขยายตัว 2.8% และสินเชื่อรถยนต์ ขยายตัว 0.8%
ด้านคุณภาพสินเชื่อด้อยลงเล็กน้อย จากสินเชื่ออุปโภคบริโภคเป็นสำคัญ โดยธนาคารพาณิชย์ยังบริหารจัดการคุณภาพหนี้ และให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (non-performing loan: NPL หรือ stage 3) ไตรมาส 3 ปี 2566 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 494.6 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.70%
ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (significant increase in credit risk: SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ 5.84% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 6.08% ทั้งในพอร์ตสินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่ออุปโภคบริโภค ยกเว้นสินเชื่อรถยนต์ที่ยังคงปรับเพิ่มสูงขึ้น
"ภาพรวมของสินเชื่อ มีการหดตัวในไตรมาส 3/66 เป็นไตรมาสแรก แต่หากพิจารณาในรายละเอียด จะพบว่าสินเชื่อ SME มีการหดตัวมาแล้ว 5 ไตรมาส ส่วนหนี้เสียนั้น ยอมรับว่าอาจจะเริ่มค่อย ๆ ทยอยออกมาให้เห็นเพิ่มขึ้น แต่จะอยู่ในระดับที่ธนาคารยังสามารถบริหารจัดการได้ เพราะมาตรการช่วยเหลือยังมีอยู่ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้" น.ส.อัจจนา ระบุ
น.ส.อัจจนา กล่าวอีกว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2566 ธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ อยู่ที่ 6.5 หมื่นล้านบาท จากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าต้นทุนจะเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินรับฝากและ FIDF Fee กลับสู่ระดับปกติ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และค่าใช้จ่ายสำรองที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ หากเทียบไตรมาสก่อน กำไรสุทธิปรับลดลง จากการลดลงของรายได้เงินปันผลตามปัจจัยฤดูกาล และกำไร FVTPL ที่ลดลงจากผลขาดทุนจากการขายตราสารอนุพันธ์เป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของ SMEs และครัวเรือนบางกลุ่มที่ยังมีฐานะการเงินเปราะบางจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไตรมาส 2/66 ทรงตัวจากไตรมาสก่อน ที่ระดับ 90.7% เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในไตรมาส 2 ขยายตัวลดลงมาใกล้เคียงกับการขยายตัวของหนี้ครัวเรือน
"ดังนั้น อาจยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของ SMEs และครัวเรือนบางกลุ่ม ที่ยังมีฐานะการเงินเปราะบางจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า" น.ส.อัจจนา ระบุ
ขณะที่ภาคธุรกิจมีสัดส่วนหนี้สินต่อ GDP เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านความสามารถในการทำกำไรโดยรวมทรงตัว โดยภาคการผลิตปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากกลุ่มเคมีภัณฑ์สวนทางกับกำไรในภาคการผลิตอื่น ขณะที่ภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบจากช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว