Krungthai COMPASS ประเมินว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2567 จะฟื้นตัวดีขึ้นสอดคล้องกับมุมมองของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่คาดว่า GDP ปี 2567 จะขยายตัวเร่งขึ้นในกรอบ 2.7-3.7% (ค่ากลางที่ 3.2%) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการส่งออก ที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัวในปีหน้า ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น
อีกทั้งการบริโภคภาคเอกชน ยังมีแนวโน้มขยายตัวตามการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว โดย Krungthai COMPASS คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2567 จะแตะราว 35 ล้านคน สอดคล้องกับมุมมองของสภาพัฒน์
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ของสภาพัฒน์ดังกล่าว ยังมิได้รวมผลกระทบของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลที่ยังมีความไม่ชัดเจน ทั้งนี้ Krungthai COMPASS ประเมินว่า เศรษฐกิจในปีหน้า ยังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งการเติบโตของประเทศเศรษฐกิจหลักฝั่งตะวันตก จะถูกกดดันจากภาวะอัตราดอกเบี้ยสูง รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน
ขณะที่ความล่าช้า พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จะกระทบการเบิกจ่ายและการลงทุนภาครัฐในปีหน้า ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงด้านต่ำต่อการขยายตัวของ GDP
ส่วนทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2566 นี้ สภาพัฒน์คาดว่ามีแนวโน้มขยายตัว 2.5% สะท้อนว่า GDP ไตรมาสที่ 4 มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของ Krungthai COMPASS หากจะให้ GDP ปีนี้ จะขยายตัวได้ที่ 2.5% ดังนั้นในไตรมาสที่ 4 GDP ต้องเร่งขึ้นอย่างน้อย 1.2% (QoQSA)
Krungthai COMPASS มองว่ามีความเป็นไปได้ จากปัจจัยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกสินค้า สำหรับภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4 เนื่องจากจะเป็นช่วง high season ของภาคการท่องเที่ยว อีกทั้งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการวีซ่า-ฟรี ทำให้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะมีแนวโน้มเร่งขึ้นใน และจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี มีแนวโน้มอยู่ที่ 28.3 ล้านคน ใกล้เคียงกับมุมมองของสภาพัฒน์ที่ 28 ล้านคน ขณะที่การส่งออกสินค้า เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นบ้างในไตรมาสที่ 3 และคาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4
"ปัจจัยดังกล่าว จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 สามารถขยายตัวได้เร่งขึ้น และจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจในปี 2567 ขยายตัวได้สูงกว่าปีนี้" บทวิเคราะห์ ระบุ
สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทย ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 คาดว่าจะได้รับแรงขับเคลื่อนจากฤดูกาลท่องเที่ยวเป็นหลัก ขณะที่มาตรการบรรเทาค่าครองชีพจากทางภาครัฐ คงจะช่วยหนุนการบริโภคในประเทศให้ยังขยายตัวต่อเนื่อง อีกทั้งการส่งออกไทย คาดว่าจะขยายตัวเป็นบวกตามฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า แม้จะยังเผชิญปัจจัยท้าทายจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ตาม คาดว่าการใช้จ่าย และการลงทุนของภาครัฐ จะยังเป็นปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยต่อไป ตามการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่ลดลง และความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณปี 2567
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทยในไทย 2567 โดยมองว่ามีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในอัตราที่เร่งขึ้นจากปี 2566 โดยมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ แม้แรงส่งจะลดลงในปีหน้า นอกจากนี้ ภาคการส่งออกของไทยในปีหน้า ก็คาดว่าจะกลับมาเติบโตได้ในแดนบวก โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐาน
อีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2567 ก็คงจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยหนุนการบริโภคภายในประเทศให้ยังขยายตัวได้ ท่ามกลางค่าครองชีพ และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง ที่กดดันกำลังซื้อของผู้บริโภค
"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จะมีรายละเอียดประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ในงานแถลงข่าวประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2566 ในวันอังคารที่ 12 ธันวาคม 2566"