ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2566 จะเติบโตสูงกว่า 3 ไตรมาสแรกที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการบริโภคภาคเอกชน ที่มีแนวโน้มขยายตัวดีตามตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวแข็งแกร่ง รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทย มีแนวโน้มเร่งตัวอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาสนี้ หลังเริ่มเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากเอเชียและรัสเซีย อีกทั้งการส่งออกสินค้าเริ่มฟื้นตัว และจะกลับมาเติบโตเป็นบวกได้ในไตรมาส 4 จากราคาส่งออกที่ปรับสูงขึ้นในสินค้าบางกลุ่ม เช่น สินค้าเกษตร และจากปัจจัยฐานต่ำ
แต่อย่างไรก็ดี SCB EIC คาดการณ์ว่า GDP ปีนี้ มีแนวโน้มปรับลดลงจากประมาณการเดิมที่ 3.1% ตามข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมา อ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก
"ตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ล่าสุดอยู่ที่ 3.1% (คาดการณ์ ณ ก.ย.66) โดย SCB EIC อยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ก่อนจะเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจใหม่ใน SCB EIC Monthly ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2023 ภายในสัปดาห์นี้" บทวิเคราะห์ ระบุ
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2567 จะสามารถเติบโตเร่งขึ้นได้ แต่ทิศทางการฟื้นตัวเปราะบางบนความไม่แน่นอนรอบด้าน ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องเป็น 37.7 ล้านคน การส่งออกฟื้นตัวกลับมาเป็นบวกได้ และการลงทุนภาคเอกชนที่จะขยายตัวดีขึ้น ตามแนวโน้มการอนุมัติการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อีกทั้งแรงส่งภาครัฐในช่วงครึ่งปีแรก จะมีไม่มากเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีหลัง จากความล่าช้าในการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567
SCB EIC มองว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำจาก
(1) สงครามอิสราเอล-ฮามาส แม้ในกรณีฐานจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยไม่มาก แต่หากสถานการณ์ลุกลามรุนแรง เศรษฐกิจโลกรวมถึงไทยจะได้รับผลกระทบผ่านราคาน้ำมันโลก และความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่ปรับสูงขึ้น
(2) เศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำลงอาจกระทบการส่งออกไทย โดยเฉพาะสินค้าที่พึ่งพาตลาดจีนสูง และเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตจีน
(3) วิกฤตภัยแล้งในหลายพื้นที่อาจเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ข้าวนาปรัง และอ้อย มีแนวโน้มปรับลดลงค่อนข้างมาก
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของนโยบายการคลัง โดยเฉพาะดิจิทัลวอลเล็ต (Digital wallet) แม้โครงการนี้จะมีความชัดเจนมากขึ้นในประเด็นผู้ได้รับสิทธิ ขนาดวงเงิน และแหล่งที่มาของเงิน รวมถึงขอบเขตการใช้จ่ายและประเภทสินค้าที่เข้าเกณฑ์ แต่ยังมีความไม่แน่นอนทางด้านกฎหมาย ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และความยั่งยืนทางการคลัง
หากโครงการสามารถดำเนินการได้จริงตามแถลงการณ์ของรัฐบาล SCB EIC ประเมินว่า Digital wallet จะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวสูงกว่าระดับศักยภาพเพียงชั่วคราว แต่หลังจากนั้น เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวตามศักยภาพตามเดิม ในขณะที่ต้องแลกด้วยต้นทุนการคลังสูง จากการใช้เม็ดเงินภาครัฐจำนวนมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่มีผลบั่นทอนความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว
"อาจส่งผลให้หนี้สาธารณะ สูงเกินเพดานหนี้ 70% ของ GDP เร็วขึ้นกว่ากรณีไม่มีโครงการนี้ รวมถึงจะกระทบพื้นที่การคลัง ที่จะใช้รองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า และเสถียรภาพการคลังของประเทศได้" บทวิเคราะห์ ระบุ