ภัยแล้งทั่วโลกหนุนแนวโน้มส่งออกอาหารไทยปีนี้สูงขึ้น 5.5% เป้าปี 67 โตต่อแตะ 1.65 ล้านลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 23, 2023 11:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร คาดทั้งปี 66 การส่งออกอาหารไทยจะมีมูลค่า 1.55 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.5% โดยในช่วง 9 เดือนปี 66 มีมูลค่า 1.16 ล้านล้านบาท ขยายตัว 4.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรอาหารในหลายภูมิภาคลดลง จึงมีความต้องการสินค้าอาหารมากขึ้นเพื่อเพิ่มปริมาณการสำรองอาหารในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชียใต้ ในส่วนของประเทศไทย แม้ผลผลิตวัตถุดิบการเกษตรของไทยหลายรายการจะลดลง แต่สินค้าส่งออกไทยได้รับประโยชน์จากความต้องการและราคาตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้เกิดภัยแล้ง โดยเฉพาะข้าวและน้ำตาลทราย

ส่วนแนวโน้มไตรมาสสุดท้าย คาดว่าจะฟื้นตัวจากไตรมาสก่อน เพราะได้รับแรงหนุนจากปริมาณวัตถุดิบการเกษตรฤดูการผลิตใหม่ที่เข้าสู่ตลาด รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบในกลุ่มอาหารทะเลแปรรูปและอาหารสัตว์เลี้ยงที่อ่อนตัวลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลทำให้ปริมาณคำสั่งซื้อของลูกค้ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

"ตลาดภายในภูมิภาคอย่างจีน อาเซียนเดิม 5 ประเทศ และกลุ่มประเทศ CLMV เป็นตลาดหลักที่ส่งผลทำให้ภาพรวมส่งออกอาหารไทยในปี 66 ขยายตัว ซึ่งกลุ่มประเทศดังกล่าวเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1, 2 และ 3 ของไทยในปัจจุบัน ตามลำดับ โดยมีผลไม้สด ข้าว และน้ำตาลทราย เป็นสินค้าหลักที่มูลค่าส่งออกขยายตัวสูง สำหรับกลุ่มสินค้าส่งออกที่หดตัวลงส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบทั้งจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักชะลอตัว (สหรัฐฯ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น) และปัญหาวัตถุดิบการเกษตรที่มีผลผลิตลดลงและต้นทุนสูงขึ้น เช่น มันสำปะหลัง สับปะรด ปลาทูน่า ยกเว้นกุ้งที่มีราคาตกต่ำ" นางอนงค์ กล่าว

ขณะที่ในปี 67 ประเมินว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งภาคการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและอุตสาหกรรมการผลิตที่เน้นการส่งออก อุตสาหกรรมการผลิตที่มีตลาดในประเทศ จะขยายตัวโดดเด่นตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ที่ ขณะที่การส่งออกอาหารไทยในปี 67 คาดว่าจะมีมูลค่า 1.65 ล้านล้านบาท ขยายตัว 6.5%

สำหรับปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนา และตลาดเกิดใหม่ที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งตามภาคบริการและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ขณะที่แรงกดดันจากเงินเฟ้อเริ่มคลายตัวลงหลังทางการประเทศต่างๆ ใช้นโยบายการเงินเข้มงวดในช่วงก่อนหน้า สินค้าอาหารไทยได้รับประโยชน์จากการที่ประเทศคู่ค้ากังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เช่นเดียวกับปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้ผลผลิตการเกษตรลดลง ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน เงินบาทผันผวนน้อยลง และยังอยู่ในระดับที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมอาหาร โดยในปี 67 เงินบาทที่คาดว่าจะมีค่าเฉลี่ย 35.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ใกล้เคียงกับปี 66 ตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ซึ่งเป็นระดับที่จะเอื้ออำนวยต่อการส่งออกสินค้าอาหารไทย

*ปี 66 ไทยส่งออกอาหารอันดับ 12 ของโลก เชื่อปี 70 ติด Top 10

ในปี 66 ไทยมีส่วนแบ่งตลาดอาหารโลกเพิ่มขึ้นเป็น 2.47% จาก 2.25% ในปีก่อน ในขณะที่ประเทศจีนและเวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดอาหารโลกเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับไทย ส่วนอินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีส่วนแบ่งตลาดอาหารโลกลดลงจากปีก่อน จากมาตรการจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตรอาหารหลายรายการเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหารของอินเดีย รวมถึงสินค้าส่งออกหลักของอินโดนีเซียและมาเลเซียอย่างน้ำมันปาล์มที่มีราคาลดลง

นางอนงค์ กล่าวว่า ในปีนี้ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 12 ของโลก ปรับตัวดีขึ้น 3 อันดับ จากอันดับที่ 15 ของโลกในปี 65 โดยที่สหรัฐอเมริกา บราซิล และเนเธอร์แลนด์ ยังคงเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 1 ถึง 3 ของโลกตามลำดับเช่นเดียวกับปีก่อน ส่วนจีนแซงเยอรมนีขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 4 ของโลก ขณะที่ประเทศในภูมิภาคส่วนใหญ่อันดับตกลง ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย และอินเดีย ยกเว้นเวียดนามที่อันดับโลกดีขึ้น 2 อันดับ

ด้าน นายเจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า คาดว่าภายในปี 70 ไทยจะเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารติด 1 ใน 10 อันดับของโลกได้ โดยคาดมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 2 ล้านล้านบาท จากการส่งออกสินค้าอาหารเพิ่ม อาทิ การส่งออกทุเรียนไปตลาดจีน เป็นต้น

*เอลนีโญลากยาวถึงปี 68 กระทบภาคเกษตรหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต กล่าวถึงแนวโน้มภัยแล้งปี 67 ต่อภาคการเกษตร ว่า การเกิดภัยแล้งขึ้นอยู่กับแต่ละภูมิภาค โดยในปีนี้ภาพรวมส่วนใหญ่ยังได้รับผลกระทบภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญมากนัก โดยนักวิจัยประเมินว่าเอลนีโญจะลากยาวตั้งแต่ปี 66-68 หรือ 3 ปีเป็นอย่างน้อย ทั้งนี้ ผลกระทบต่อภาคเกษตรไทย ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลต้องศึกษาเชิงลึกมากขึ้น เช่น ธนาคารน้ำใต้ดิน เนื่องจากการเตรียมการบริหารจัดการน้ำที่ดี จะทำให้ไทยได้รับผลกระทบน้อยลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ