ส่งออกไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว สรท.คาดปี 67 โต 1-2% เกษตร-อาหาร-ยานยนต์ ขับเคลื่อนหลัก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 23, 2023 12:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ส่งออกไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว สรท.คาดปี 67 โต 1-2% เกษตร-อาหาร-ยานยนต์ ขับเคลื่อนหลัก

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ประเมินแนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2567 โดยมองว่าการส่งออกของไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และคาดว่าในปีหน้า จะเห็นการส่งออกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ราว 1-2% หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกราว 2.85-2.89 แสนล้านดอลลาร์ จากในปี 2566 ที่คาดว่าการส่งออกจะหดตัว 1-1.5% หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกราว 2.83-2.84 แสนล้านดอลลาร์

"แม้ปัจจัยภายนอกที่คาดเดาและควบคุมได้ยาก จะมีผลกระทบรุนแรง แต่วิกฤตการส่งออกของไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วในปีนี้ และพร้อมที่จะเดินหน้าเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2567 เราคาดว่าการส่งออกปีหน้า จะขยายตัวได้ราว 1-2% โดยมีสินค้าเกษตร อาหาร ยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก" ประธาน สรท.ระบุ

ทั้งนี้ อยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่าอัตราแลกเปลี่ยน เฉลี่ยอยู่ที่ 33-35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ย 80-90 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

สำหรับปัจจัยภายนอกที่ผู้ส่งออกไทยต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยโลกที่ยังทรงตัวในระดับสูง รวมทั้งกฎระเบียบทางการค้าต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนแต่เป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTB) ที่ผู้ส่งออกของไทยจะต้องทำความเข้าใจ และปฏิบัติตามกฎระเบียบเหล่านั้น ไม่เช่นนั้นสินค้าไทยก็จะไม่สามารถส่งออกไปยังประเทศเหล่านั้นได้ หรืออาจส่งออกได้ แต่ต้องถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าปกติ ซึ่งทำให้เสียเปรียบประเทศคู่แข่ง

ส่วนปัจจัยในประเทศ ต้องติดตามสถานการณ์เอลนีโญ เนื่องจากจะมีผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมการเกษตร

นายชัยชาญ ยังกล่าวถึงการปรับตัวของผู้ประกอบการส่งออกว่า คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ที่จะใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยในกระบวนการผลิตสินค้า สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากภาวะการขาดแคลนแรงงานในประเทศ เพราะไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้จำนวนแรงงานเริ่มลดลง ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนในเรื่อง Automation เพื่อมาใช้ทั้งในภาคการผลิต การตลาด และการค้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิการผลิตสินค้า และลดการใช้แรงงานคนลง ซึ่งการปรับตัวในทิศทางนี้ถือเป็น Next Normal ที่สำคัญ หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในทั่วโลก

"ปีหน้า เราต้องเจอความท้าทายในเรื่องค่าแรง การขาดแคลนแรงงาน เพราะฉะนั้น ต้องศึกษาเรื่อง Automation บริหารจัดการโรงงาน และดูเรื่องการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ ปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ใช้พลังงานน้อยลง เพราะเราคงจะไม่เห็นราคาน้ำมันที่ 60 ดอลลาร์/บาร์เรลอีกต่อไปแล้ว" ประธาน สรท.ระบุ

นายชัยชาญ ยังคาดว่า การส่งออกไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายที่เหลือของปี 2566 จะสามารถขยายตัวได้ 5-7% โดยการส่งออกเริ่มมีสัญญาณที่ดีต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ส.ค. อีกทั้งปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทยเริ่มคลี่คลายลง ในขณะที่สินค้าส่งออกของไทยยังมีศักยภาพดี และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

"ไตรมาส 4/66 จะเห็นการส่งออกเป็นบวกได้ คาดว่าจะบวก 5-7% และทั้งปี 66 คงจะติดลบเล็กน้อย ประมาณ -1% ไม่เกิน -1.5% แน่นอน" นายชัยชาญ ระบุ
*ส่งออกพระเอกขับเคลื่อนศก.ปี 67

น.ส.อานันท์ชนก สกนธวัฒน์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า สภาพัฒน์ประเมินการส่งออกไทยปี 2567 ไว้ในทิศทางที่ค่อนข้างสดใส โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.8% และเชื่อว่าการส่งออกจะสามารถกลับมาเป็นพระเอก กลับมาเป็นความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ในปีหน้า

ทั้งนี้ หากพิจารณาภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2567 จะเห็นว่ามีแนวโน้มที่จะได้รับแรงสนับสนุนจากการกลับมาฟื้นตัวของปริมาณการค้าโลก ซึ่งสะท้อนจากมูลค่าการส่งออกที่เริ่มกลับมาขยายตัวได้ในหลายประเทศ นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ เริ่มผ่อนคลายลง ส่งผลให้ธนาคารกลางของหลายประเทศสำคัญๆ ชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย หรือยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้

ดังนั้นจากทิศทางดังกล่าว สภาพัฒน์ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2567 จะขยายตัวได้ 2.7% ขณะที่ปริมาณการค้าโลก ขยายตัวได้ 3.2% ดีขึ้นจากปี 66 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 2.1% โดยแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 67 จะมาจากภาคการผลิต และภาคการค้าเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้การส่งออกไทยในปีหน้าสามารถกลับมาเติบโตได้มากขึ้นกว่าปี 66

"ในปี 67 สภาพัฒน์คาด GDP ของไทยจะเติบโตได้ 2.7-3.7% หรือค่ากลางที่ 3.2% การบริโภค การลงทุนในประเทศ โตต่อเนื่อง การส่งออก คาดโต 3.8% และจะกลับมาเป็นพระเอก" น.ส.อานันท์ชนก ระบุ
*จับตาตลาดจีน-อินเดีย-แอฟริกาใต้

ด้านนายกิตติภูมิ พงษ์สุรพิพัฒน์ ผู้บริหารส่วนวิจัยต่างประเทศ ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า การส่งออกไทยในไตรมาส 4 จะกลับมาเติบโตเป็นบวกได้ เนื่องจากที่ผ่านมาอุปสรรคด้านการส่งออกในหลายเรื่องได้คลี่คลายลง เช่น ค่าระวางเรือ, Global Supply chain จากที่ก่อนหน้านี้ การส่งออกของไทยติดลบต่อเนื่องกันมา 4 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 4/65

สำหรับในปี 2567 ตลาดส่งออกที่ไทยควรโฟกัส คือ ตลาดในเอเชีย ที่ถือว่าเป็น Driving Growth ของเศรษฐกิจโลก เพราะมีส่วนช่วยในการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ในสัดส่วนสูงถึง 60% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากในช่วงก่อนวิกฤติโควิด-19 โดยตลาดของประเทศในเอเชียที่จะเป็นโอกาสที่ดีต่อการส่งออกของไทย ได้แก่ ตลาดจีน และตลาดอินเดีย

นายกิตติภูมิ กล่าวว่า ในส่วนของประเทศจีนนั้น ถือเป็นตลาดที่ไม่อาจจะละเลยได้ แม้เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงก็ตาม เพราะจีนมีส่วนช่วยในการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียได้ราวครึ่งหนึ่ง หากแม้สามารถขยายการส่งออกไปจีนได้เพิ่มเพียง 1% ก็ถือว่าสร้างมูลค่าได้มหาศาล ดังนั้นจีนจึงเป็นตลาดที่มีความสำคัญมากต่อการส่งออกของไทย

ในขณะที่ต้องจับตาตลาดอินเดีย เพราะอินเดียเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 5 ของโลก และคาดว่าจะขึ้นเป็นอันดับ 3 ของโลกในปี 70 โดยเศรษฐกิจอินเดียมีแนวโน้มเติบโตสูง (เฉลี่ย 6.3% ในช่วงปี 66-70) และยังเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก ที่ 1,400 ล้านคน จึงเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง โดยคาดว่าผู้บริโภคจะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นกว่า 30% ในอีก 5 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ ยังมีตลาดส่งออกที่มีโอกาสขยายตัวได้สูงอีก เช่น ตลาดแอฟริกาใต้ ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาค และเป็นประตูการค้าที่สำคัญในภูมิภาคแอฟริกา ที่สามารถเชื่อมโยงการขนส่งจากทั้งอเมริกา ยุโรป และเอเชีย โดยกลุ่มสินค้าส่งออกที่มีโอกาสทางการค้า เช่น เครื่องยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์, ผลไม้ และอาหารแปรรูป

ส่วนตลาดซาอุดิอาระเบีย ที่ไทยเพิ่งฟื้นความสัมพันธ์ทางการค้า ก็นับเป็นประเทศมหาอำนาจในภูมิภาค และเป็นประเทศที่ประชากรมีรายได้สูง โดยสินค้าส่งออกที่มีโอกาสทางการค้า เช่น อาหารฮาลาล, สินค้าอุปโภค-บริโภค, ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว และเครื่องสำอาง และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามในปี 2567 ที่อาจจะมีผลต่อการส่งออกของไทย เช่น สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล กับกลุ่มฮามาส, สถานการณ์ในรัสเซีย-ยูเครน, ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ของเวียดนาม, การเลือกตั้งของประเทศสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐอเมริกา, อินเดีย และไต้หวัน, ภาวะเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยที่ยังทรงตัวในระดับสูง, วิกฤติเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ รวมทั้งภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ที่ก่อให้เกิด Supply Chain Disruption

*ใช้ FTA เป็นตัวช่วยทำตลาดต่างประเทศ

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในปี 67 ปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อทิศทางการค้า-ส่งออก ได้แก่ 1.แนวโน้มเศรษฐกิจโลก 2.ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ และ 3.กระแส ESG ในการดำเนินธุรกิจ ที่ต้องคำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

โดยแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปีหน้า คาดว่าจะยังทรงตัว และอาจจะไม่ได้ขยายตัวมากนักจากปีนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจของประเทศหลักๆ ทั้งสหรัฐฯ และจีน ยังชะลอตัว ขณะที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อาจได้เห็นการเริ่มปรับลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 67 หลังจากผ่านช่วงพีคไปแล้ว

"เมื่อดอกเบี้ยผ่านช่วงพีคไปแล้ว ดอลลาร์สหรัฐก็น่าจะรีบาวน์ ไปเป็นทิศทางที่อ่อนค่าลง ซึ่งจะมีผลต่อเงินบาทในปีหน้า โดยเรามองเงินบาท ณ สิ้นปี 67 ไว้ที่ระดับ 34 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งประกอบกับเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ก็จะช่วยหนุนเงินบาทได้ ดังนั้น ทิศทางการเงินในปีหน้า เชื่อว่าจะผ่อนคลายมากกว่าปีนี้" น.ส.ณัฐพร ระบุ

ส่วนความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่องไปในปี 67 ไม่ว่าจะเป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงอิสราเอล-ฮามาสนั้น จะทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังมีความผันผวนในทิศทางขาขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนด้านการขนส่งสินค้า อย่างไรก็ดี จะทำให้ห่วงโซ่การผลิตมีการกระจายตัว ลดความเสี่ยง เช่น Trade war, Tech war ที่นำไปสู่การแบ่งขั้วการผลิตที่ชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการกระจายความเสี่ยงในการลดพึ่งพิงเงินดอลลาร์ และทำให้เงินหยวนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

สำหรับกระแส ESG จะทำให้เกิดมาตรการกีดกันทางการค้าในประเด็นด้าน ESG มากขึ้น เช่น มาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป ที่เริ่มมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ ต.ค.66 ที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลให้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.69 จะเริ่มเก็บภาษีสินค้าเข้า 6 ชนิด คือ เหล็ก, ไฟฟ้า, ซีเมนต์, ปุ๋ย, อลูมิเนียม และไฮโดรเจน โดยได้เริ่มมีผลกับสินค้าส่งออกของไทยที่จะเข้าสู่ตลาดยุโรป

ขณะที่ฝั่งสหรัฐฯ ก็มีการใช้มาตรการ Clean Competition Act ในปี 2567 ซึ่งคล้ายกับมาตรการ CBAM ของยุโรป โดยจะใช้บังคับกับการผลิตในประเทศ และการนำเข้าสินค้า ได้แก่ น้ำมัน, ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม, ปิโตรเคมี, ปุ๋ย, ไฮโดรเจน, ปูนซีเมนต์, เหล็ก และเหล็กกล้า, อลูมิเนียม, กระจก, เยื่อกระดาษ กระดาษ และเอทานอล เป็นต้น

"มาตรการกีดกันทางการค้ามีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น ท่ามกลางการรวมกลุ่มระดับภูมิภาคที่เพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งมาตรการกีดกันทางการค้า เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ แต่สิ่งที่เราทำได้ คือการเข้าไปรวมกลุ่มทางการค้า ใช้ประโยชน์จากการทำ FTA ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ FTA เป็นตัวช่วยธุรกิจไทยในการทำตลาดต่างประเทศ" น.ส.ณัฐพร ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ