ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพูขึ้นเฉียดแสน ต่อเชื่อมสายสีเขียวได้แต่ช่วงทดลองปิด

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday November 25, 2023 13:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพูขึ้นเฉียดแสน ต่อเชื่อมสายสีเขียวได้แต่ช่วงทดลองปิด

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า เมื่อวาน (24 พฤศจิกายน 2566) เป็นวันศุกร์แรกหลังจากเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ถึงสถานีมีนบุรี (PK30) ฟรีตลอดเส้นทาง รวม 30 สถานี ตั้งแต่เวลา 06.00 น. ถึงเวลา 20.00 น. (รวม 14 ชั่วโมง) รวมทั้งให้บริการที่จอดรถฟรีที่อาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) บริเวณสถานีมีนบุรี (PK30) มีผู้มาใช้บริการรวมจำนวน 98,828 คน-เที่ยว สูงสุดตั้งแต่เปิดทดลองให้บริการเมื่อวันที่ 21พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา (สายสีชมพู 21-24 พ.ย.66 สะสมสี่วันมีผู้ใช้บริการรวม 342,086 คน-เที่ยว)

ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพูขึ้นเฉียดแสน ต่อเชื่อมสายสีเขียวได้แต่ช่วงทดลองปิด

โดยบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพู จัดขบวนรถให้บริการสูงสุด 14 ขบวน ให้บริการทุก 10 นาที ตั้งแต่เวลา 06.00 - 20.00 น. รวม 182 เที่ยว (รวมขบวนรถเสริม 11 เที่ยว) ทั้งนี้ พบว่าที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) มีผู้ใช้บริการมากที่สุดกว่า 17,000 คน-เที่ยว ซึ่งในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนได้มีการบริหารจัดการผู้โดยสารที่สถานี (Crowd Control) เพื่อลดความหนาแน่นที่ชั้นชานชาลาและในขบวนรถ เนื่องจากเป็นสถานีที่เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าวัดพระศรีมหาธาตุ (N17) โครงการรถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท โดยในช่วงทดลองให้บริการผู้โดยสารสายสีชมพูยังคงต้องใช้ทางเข้า-ออก เพื่อออกจากระบบแล้วเดินไปยังทางเข้า-ออกของรถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท

ส่วนสถานีที่มีผู้ใช้บริการรองลงมาได้แก่ สถานีวงแหวนรามอินทรา (PK25) สถานีตลาดมีนบุรี (PK29) สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 (PK08) สถานีหลักสี่ (PK14) และสถานีมีนบุรี (PK30) ตามลำดับ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน ? 3 ธันวาคม 2566 ให้บริการตั้งแต่เวลา 06.00 ? 20.00 น. ให้บริการทุก 10 นาที ก่อนขยายเวลาให้บริการต่อไป โดยยังให้ให้บริการฟรีถึงวันที่ 2 มกราคม 2567 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชน อย่างไรก็ตาม กรมการขนส่งทางรางได้ประสานการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้ให้บริการรถไฟฟ้สายสีชมพู (NBM) เร่งดำเนินการก่อสร้างทางขึ้น-ลงทุกสถานีรถไฟฟ้า รวมถึงทางเดินเชื่อมต่อให้แล้วเสร็จก่อนเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในวันที่ 3 มกราคม 2567

สำหรับภาพรวมจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการระบบราง ประจำวันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2566 พบว่า มีผู้ใช้บริการระบบราง รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,789,962 คน-เที่ยว (นิวไฮ) สูงสุดตั้งแต่มีสถานการณ์ covid-19 ประกอบด้วย

1.รถไฟระหว่างเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 79,405 คน-เที่ยว ประกอบด้วย

1.1 ขบวนรถโดยสารเชิงพาณิชย์ จำนวน 28,368 คน-เที่ยว

1.2 ขบวนรถโดยสารเชิงสังคม จำนวน 51,037 คน-เที่ยว

2. รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (รวมรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง) จำนวน 1,710,557 คน-เที่ยว (นิวไฮ) โดยมีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) 78,769 คน-เที่ยว สูงสุดตั้งแต่มีสถานการณ์ Covid-19 (ครั้งล่าสุดเมื่อ 22 พ.ย.66 จำนวน 78,355 คน-เที่ยว) เนื่องจากที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เป็นสถานีที่มีทางเดินเชื่อมต่อระหว่างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (PK01)และโครงการรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม ((สายสีม่วง) (PP11)) ประกอบด้วย

2.1 รถไฟฟ้า Airport Rail Link จำนวน 73,124 คน-เที่ยว

2.2 รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง จำนวน 31,910 คน-เที่ยว (รวมรถไฟทางไกลเชื่อมต่อสายสีแดงฟรี จำนวน 135 คน-เที่ยว)

2.3 รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) จำนวน 490,340 คน-เที่ยว

2.4 รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) จำนวน 78,769 คน-เที่ยว (นิวไฮ)

2.5 รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิทและสายสีลม จำนวน 892,348 คน-เที่ยว

2.6 รถไฟฟ้า สายสีทอง จำนวน 7,628 คน-เที่ยว

2.7 รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง จำนวน 37,590 คน-เที่ยว

2.8 รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู จำนวน 98,828 คน-เที่ยว

เมื่อเทียบกับวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ใช้บริการระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพิ่มขึ้นจำนวน 164,107 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.61 (17 พ.ย.66 จำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าฯ รวม 1,546,450 คน-เที่ยว) โดยมีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.71 และสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.33 สีเขียว เพิ่มร้อยละ 6.19 สายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) เพิ่มร้อยละ 1.68 Airport Rail Link เพิ่มร้อยละ 1.46 และสายสีทองเพิ่มร้อยละ 1.09 ตามลำดับ

ทั้งนี้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคมได้มอบหมายให้ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม ซึ่งกำกับดูแลการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการเจรจาร่วมกับ และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย ? มีนบุรี ซึ่งบรรลุข้อตกลงร่วมกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะขยายระยะที่เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู (MRT สายสีชมพู) ฟรี! ตลอดสาย ครบทั้ง 30 สถานี รวมถึงเปิดให้บริการจอดรถ ฟรี! บริเวณชั้น 1 ของอาคารจอดแล้วจรที่สถานีมีนบุรี ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 2 มกราคม 2567 เพื่อเป็นการส่งมอบความสุขส่งท้ายปีให้แก่ประชาชน และจากนั้นจึงจะเริ่มเปิดให้บริการเต็มรูปแบบเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

กรมการขนส่งทางราง (ขร.) เชื่อมั่นว่า การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ซึ่งมีประชาชนมาใช้บริการจำนวนมาก นับเป็นเรื่องดีที่สะท้อนถึงความพร้อมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางของคนไทย หันมาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะกันมากขึ้น โดยเฉพาะระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่ขนส่งผู้โดยสารได้คราวละมาก ๆ และใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน ก็จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลกไปได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนยังช่วยให้ประชาชนสามารถควบคุมเวลา และวางแผนการเดินทางได้ดียิ่งขึ้น อีกท้งได้รับทั้งความสะดวกสบายและความปลอดภัยในการเดินทางมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของนโยบาย Quick Win "คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน" ที่มุ่งยกระดับความสุขของประชาชนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ความปลอดภัย การให้บริการที่เป็นมาตรฐานสากล และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ที่กำลังจะเปิดให้บริการในอนาคตจะมีส่วนช่วยให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และปลอดภัย สร้างความสุขการเดินทางระบบรางให้กับคนไทยอย่างมุ่งมั่นต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ