นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า กทพ. มีแผนแม่บทลงทุนทางพิเศษทั่วประเทศ ระยะเวลา 10 ปี (65-75) ระยะทางรวมประมาณ 200 กม. งบลงทุนประมาณ 4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น
- โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กม. มูลค่า 3.12 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดให้บริการต้นปี 68
- ทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา ระยะทาง 19.25 กม. มูลค่า 3.44 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างสรุปร่างทีโออาร์ คาดว่าจะประกาศขายซองประกวดราคาได้เดือน ธ.ค. 66
- โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ระยะที่ 1 ตอน N2 (ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก) ระยะทาง 11.3 กม. มูลค่า 1.69 หมื่นล้านบาท
ก่อนหน้านี้ กทพ.ได้เสนอไปที่กระทรวงคมนาคมแล้ว แต่เนื่องจากมีความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้ส่งเรื่องกลับมาที่กทพ. ปัจจุบัน กทพ.จะสรุปรายละเอียดเพื่อนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.ชุดใหม่พิจารณาอีกครั้ง ก่อนเสนอกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป ซึ่งคาดว่าจะไม่เกินกลางปี 2567
ส่วนโครงการระยะที่ 2 ตอน N1 (ศรีรัช-งามวงศ์วาน-ถ.ประเสริฐมนูกิจ) หรือ เกษตร-งามวงศ์วาน ระยะทาง 6.7 กม. มูลค่า 5 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างศึกษาออกแบบด้านวิศวกรรมและความเหมาะสม
นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า กทพ. ใช้เวลาดำเนินโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ มากว่า 25 ปี แล้ว โดยได้มีการรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้อง และศึกษาออกแบบที่เหมาะสมหลายรอบ ซึ่งหากในการนำเสนอในครั้งนี้ ยังไม่มีการผลักดันให้เดินหน้า กทพ. ก็มีแนวคิดอาจจะจำเป็นต้องยกเลิกโครงการดังกล่าว โดยคืนพื้นที่ที่เวนคืนกลับให้ประชาชนเจ้าของที่ดิน
- โครงการทางพิเศษสายกระทู้-ป่าตอง ภูเก็ต ระยะทาง 3.98 กม. มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งที่ประชุมบอร์ดกทพ.เมื่อวันที่22 พ.ย.66 มีมติเห็นชอบให้ปรับรูปแบบการลงทุน โดย กทพ.จะก่อสร้างงานโยธาเอง จากเดิมใช้รูปแบบ PPP หลังจากนี้ จะเสนอกระทรวงคมนาคม และ ครม.พิจารณาทบทวนมติ ขอปรับรูปแบบลงทุนใหม่
ส่วนโครงการระยะที่ 2 ทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กระทู้ ภูเก็ต ระยะทาง 30.62 กม. มูลค่า 4.26 หมื่นล้านบาท ใช้รูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนแบบ PPP งานโยธาและงานระบบ O&M ซึ่งรวมงานระบบสายกระทู้-ป่าตองด้วย
- โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์-พระราม 9) หรือ double deck ระยะทาง 20.09 กม. มูลค่า 3.45 หมื่นล้านบาท เบื้องต้น กทพ.จะไม่ลงทุนเอง โดยได้เจรจากับ บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ให้ลงทุนโดยแลกกับการขยายระยะเวลาสัมปทานระบบทางด่วนปัจจุบันที่จะสิ้นสุดปี 78 ส่วนจะขยายกี่ปีนั้น จะมีการเจรจาอีกครั้ง โดยประเมินจากปริมาณจราจรกับค่าลงทุน อยู่ระหว่างเตรียมเสนอ บอร์ดกทพ.ชุดใหม่ พิจารณาเห็นชอบ
-โครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพ และทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ระยะทาง 2.25 กม.มูลค่า 4.4 พันล้านบาท อยู่ระหว่างเจรจารูปแบบการลงทุนกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)
- โครงการถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 ด้านทิศใต้ หรือ โครงการทางด่วนเชื่อม 3 สมุทร (สมุทรปราการ สมุทรสาครและสมุทรสงคราม) ระยะทาง 71.60 กม. มูลค่า 1.09 แสนล้านบาท
- โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 18.5 กม. มูลค่า 2.18 หมื่นล้านบาท
- โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 25 กม. มูลค่า 5.25 หมื่นล้านบาท
- โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง ตราดระยะทาง 6 กม. มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท
- โครงการทางพิเศษสายอุดรรัถยา-ปทุมธานี ระยะทาง 20.50 กม. มูลค่า 3.85 หมื่นล้านบาท
นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 51 ปี นับจากก่อตั้งปี 2515 จนถึงปัจจุบัน กทพ.ได้เปิดให้บริการทางพิเศษไปแล้ว 8 สายทาง รวมระยะทาง 224.6 กม.