สถานการณ์น้ำตาล และแนวโน้มในปี 67 จะเป็นอย่างไร หลังจากที่ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลก ประกาศระงับการส่งออกน้ำตาลในเดือนต.ค. ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกพุ่งขึ้น ทำให้กระทบต่อราคาในประเทศ จนมีกระแสเรียกร้องให้ปรับขึ้นราคาตามตลาดโลก
นายเจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำตาลในตลาดโลกว่า ขณะนี้ราคาน้ำตาลพุ่งขึ้น เนื่องจากประเทศอินเดียงดส่งออกน้ำตาล ซึ่งไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลในปี 65 เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากอินเดีย และบราซิลตามลำดับ ดังนั้น 3 ประเทศที่ส่งออกน้ำตาล หากมีประเทศใดขาดแคลนน้ำตาล ก็จะได้รับผลกระทบแน่นอน
โดยปัจจัยที่ทำให้อินเดียงดส่งออกน้ำตาล เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้งจากเอลนีโญ ประกอบกับความต้องการน้ำตาลในประเทศสูง ทำให้ต้องงดส่งออกน้ำตาลมาหลายเดือนแล้ว ทำให้น้ำตาลในตลาดโลกราคาสูงขึ้น
ในส่วนของไทย ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เนื่องจากภัยแล้ง ค่าปุ๋ยและพลังงานสูงขึ้น ซึ่งคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้ทำงานและพูดคุยร่วมกับภาครัฐและเอกชน และเกษตรกร โดยตอนแรกขอปรับราคาน้ำตาลขึ้นที่ 4 บาท/กิโลกรัม แต่ภาครัฐอนุญาตที่ 2 บาท/กิโลกรัม
ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับผู้ผลิตน้ำตาลในไทย มองว่าน้ำตาลในประเทศไม่น่าเป็นห่วงแล้ว เนื่องจากฤดูกาลหีบอ้อยจะเริ่มในเดือนพ.ย.-ธ.ค. 66 ซึ่งก็จะมีน้ำตาลใหม่เข้ามา อย่างไรก็ดี ในเรื่องราคา ก็ยังไม่เป็นไปตามความต้องการของชาวไร่ที่ต้องการ 4 บาท/กิโลกรัม ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่ชาวไร่จะอยากให้ราคาเป็นไปตามตลาดโลก ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการฯ และภาครัฐ จะพูดคุยกันต่อไป
"เอลนีโญทำให้ไทยส่งออกข้าวและน้ำตาลได้มากขึ้น ซึ่งในส่วนของน้ำตาล ไม่ต้องกังวลว่าจะขาดตลาด เพราะจะถึงฤดูการหีบอ้อยแล้ว ซึ่งก็จะสามารถเติมเต็มได้ แม้ว่าราคาจะมีการปรับขึ้นมาบ้างก็ตาม โดยช่วงนี้ขึ้นไป 2 บาท/กิโลกรัม ในภาคอุตสาหกรรมยังรับได้อยู่" นายเจริญ กล่าว
ในส่วนของอาหาร เครื่องดื่ม และขนม ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำตาลที่ขึ้นบ้างเล็กน้อย จากต้นทุนที่เพิ่ม แต่ยังไม่มีรายใดปรับราคาสินค้าขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจในภาพรวมทั่วโลกยังไม่ได้ดีมากนัก การปรับราคาขึ้นจึงทำได้ยาก ทั้งนี้ มีเครื่องดื่มหลายรายใช้การลดปริมาณน้ำตาลลง ซึ่งก็จะทำให้เสียภาษีน้อยลง จากการเก็บภาษีความหวาน
สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมน้ำตาลในปี 67 ขึ้นอยู่กับประเทศอินเดีย ถ้าปีหน้าอินเดียยังส่งออกไม่ได้ ราคาน้ำตาลจะยืนอยู่ในระดับนี้ต่อไป ซึ่งอินเดียได้ประกาศงดส่งออกน้ำตาลไปเรื่อยๆ และยังไม่ระบุว่าถึงวันไหน ขณะเดียวกัน ยังขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศในปีหน้าด้วย
ในส่วนของไทย ยืนยันว่า น้ำตาลไม่ขาดตลาดแน่นอน เนื่องจากไทยขายภายในประเทศประมาณ 20% และส่งออกกว่า 70% ซึ่งผู้ส่งออกถ้าสามารถปรับราคาได้ก็ปรับ ในส่วนของปริมาณน้ำตาลปี 67 ยังมีอยู่ เนื่องจากปีนี้เริ่มมีการหีบอ้อยแล้ว ต้องติดตามสถานการณ์น้ำตาลของปี 68 ต่อไป
"ปัจจัยที่ต้องจับตาปีหน้า คือเรื่องอินเดีย และเอลนีโญ ว่าจะรุนแรงมากน้อยเพียงใด ซึ่งมีความกังวลเรื่องน้ำ เรื่องภัยแล้งที่จะแล้งจัด ซึ่งการปลูกอ้อยต้องมีระบบน้ำที่ดีและทั่วถึง ดังนั้น จึงฝากถึงรัฐบาลดูเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ชลประทานทั้งประเทศ รวมทั้งเรื่องต้นทุน เรื่องเกษตรแปลงใหญ่ Smart Farming ปัจจัยการผลิตของเกษตรกร และการลดต้นทุน เพื่อแข่งขันในตลาดโลก" นายเจริญ กล่าว
ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต กล่าวถึงสถานการณ์น้ำตาลว่า ขณะนี้ทั่วโลกต้นทุนในภาคเกษตรขยับขึ้นจากราคาพลังงาน ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นในไทย คือ ต้นทุนสูงขึ้น แต่ราคาขายยังต้องดูแลในฝั่งของผู้บริโภค ราคาน้ำตาลในตลาดโลกและในประเทศจึงมีความแตกต่างกัน ซึ่งขณะนี้รัฐบาลมีการอนุมัติราคาน้ำตาลขึ้นมาที่ 2 บาท/กิโลกรัม
ทั้งนี้ ในส่วนของอาหารและเครื่องดื่ม ได้รับผลกระทบบ้างเล็กน้อย แต่อุตสาหกรรมอาหารพยายามที่จะปรับลดน้ำตาลในแต่ละสูตรอยู่แล้ว จึงยังคงมีทางออกอยู่ โดยมองว่าตอนนี้น้ำตาลขึ้นมา 2 บาท/กิโลกรัม ซึ่งยังไม่เกิน 10% ผลกระทบยังไม่มากนัก แต่ถ้าเกินกว่านี้ และยังขึ้นไปแบบเร็วและต่อเนื่อง ที่สำคัญคือคาดการณ์ไม่ได้ ก็จะเริ่มน่ากลัว แต่ขณะนี้ยังเป็นราคาที่แน่นอน ต้นทุนสูงขึ้นในระดับหนึ่ง แต่ยังพอบริหารจัดการได้
นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า น้ำตาลขึ้นมา 2 บาท/กิโลกรัม ดีกว่าที่ตอนแรกจะขึ้นทีเดียว 4 บาท/กิโลกรัม ซึ่งหากปรับขึ้นทีเดียว 4 บาทจะส่งผลกระทบแน่นอน และยังหาทางออกไม่ได้ เพราะสินค้าหลายอย่างถูกจำกัดเรื่องต้นทุน บางอย่างขึ้นราคาไม่ได้ บางอย่างมีการแข่งขันสูง และบางอย่างยังมีภาษีน้ำตาล ซึ่งสุดท้ายจะไปกระทบกับผู้บริโภค
"ขณะนี้น้ำตาลไม่ขาดตลาด ที่ผ่านมาไทยมีการปรับสมดุลได้ทันท่วงที ถ้าถูกจำกัดไว้ แล้วไม่ได้ขึ้นราคาเลย มีสัญญาณว่าทุกคนพยายามเอาตัวรอด แต่พอขยับราคาขึ้น สถานการณ์ก็มีการผ่อนคลายเล็กน้อย แต่จะคุ้มต่อต้นทุนหรือไม่ เกษตรกรจะไปต่อได้หรือไม่ ต้องดูต่อไป" นายวิศิษฐ์ กล่าว
สำหรับแนวโน้มราคาน้ำตาลในปี 67 ขึ้นอยู่กับราคาตลาดโลก ถ้าระดับต้นทุนในภาพรวม โดยเฉพาะพลังงานไม่สูงมาก ก็อาจไม่ขยับไปจากนี้มากนัก ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะเรื่องน้ำตาลต่อรัฐบาล คือ ต้องดูตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ดูแลผู้บริโภคควบคู่กันไป ให้ขยับไปได้ทั้งกระบวนการ ทุกคนอยู่ได้ตั้งแต่เกษตรกร และผู้บริโภคไม่ต้องมีภาระที่สูงเกินไป
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก 3 องค์กรเศรษฐกิจด้านธุรกิจเกษตรและอาหาร (ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร) ประเมินว่าในปี 66 ไทยส่งออกน้ำตาลทราย 121,048 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.1% จากปี 65 ส่วนปี 67 คาดไทยส่งออกน้ำตาลเพิ่ม 5.4% จากปีนี้ แตะ 127,584 ล้านบาท
โดย 9 เดือนแรกของปี 66 ผลไม้สด ข้าว และน้ำตาลทราย เป็นสินค้าหลักที่มูลค่าส่งออกขยายตัวสูง และส่งผลทำให้ภาพรวมส่งออกอาหารไทยในปี 66 ขยายตัว ทั้งนี้ แม้ผลผลิตวัตถุดิบจะลดลง แต่สินค้าส่งออกไทยหลายรายการได้รับประโยชน์จากความต้องการและราคาตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น จากปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยเฉพาะข้าว และน้ำตาลทราย