นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ที่รัฐบาลได้ยกขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องเร่งแก้ไขว่า กระทรวงมหาดไทย จะเริ่มเปิดให้ประชาชนที่เป็นลูกหนี้นอกระบบ หรือถูกคุกคามจากการทวงหนี้นอกระบบ ไปลงทะเบียนหนี้นอกระบบได้ที่ศาลากลางจังหวัด ศูนย์ดำรงธรรม ประจำอำเภอ หรือจังหวัด ส่วนในกรุงเทพฯ ให้ไปลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตทุกเขต ซึ่งกระทรวงมหาดไทย จะเริ่มเปิดระบบให้ลงทะเบียนดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.นี้ เป็นต้นไป
ทั้งนี้ เพื่อให้กระทรวงมหาดไทย สามารถมีข้อมูลของผู้ที่เป็นหนี้นอกระบบ และจะได้ทำการรวบรวมปัญหา และนำไปสู่แนวทางการแก้ไขให้แก่ลูกหนี้ทุกรายต่อไป
ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลัง จะเข้ามาดูแลลูกหนี้นอกระบบภายหลังจากที่ได้เข้ากระบวนการไกล่เกลี่ย เพื่อปรับโครงสร้างหนี้แล้ว โดยธนาคารเฉพาะกิจของรัฐจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือทางการเงิน เช่น การให้กู้ไม่เกิน 50,000 บาท/ราย ระยะเวลา 5 ปี รวมทั้งการให้สินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพอิสระ ไม่เกิน 1 แสนบาท/ราย ระยะเวลา 8 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยตามความสามารถของลูกหนี้แต่ละราย
นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะเข้ามาช่วยรองรับในกรณีที่ลูกหนี้นำที่ดินไปขายฝาก หรือจำนองไว้กับเจ้าหนี้นอกระบบ ธ.ก.ส.ก็จะมีวงเงินให้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท/ราย เพื่อเข้าไปช่วยเรื่องการแก้ปัญหาที่ดินทำกินต่อไป อย่างไรก็ดี หากผู้ปล่อยกู้ที่ต้องการจะทำให้ถูกกฎหมาย ก็สามารถมาขออนุญาตจัดตั้งเป็นบริษัทพิโกไฟแนนซ์ได้ ซึ่งปัจจุบัน มีผู้มาขออนุญาตแล้วกว่าพันราย ใช้ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวว่า ปัญหาหนี้นอกระบบ กัดกร่อนสังคมไทยมายาวนาน และเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสังคมอีกหลายประการ รัฐบาลได้ประเมินจำนวนหนี้ครัวเรือน ที่เป็นปัญหาหนี้นอกระบบไว้เป็นมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้อาจจะประเมินไว้ต่ำกว่าความเป็นจริง
"ปัญหาหนี้นอกระบบ ส่งผลโดมิโน เอฟเฟค ไปทุกภาคส่วน หนี้นอกระบบ นับเป็นการค้าทาสยุคใหม่ ที่พรากอิสรภาพ ความฝัน ไปจากผู้คนในยุคสมัยนี้" นายเศรษฐา กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาหนี้นอกระบบ เรื้อรังและใหญ่เกินกว่าที่จะแก้ไขได้โดยไม่มีภาครัฐเข้ามาเป็นตัวกลางให้ความช่วยเหลือ วันนี้รัฐบาลจึงต้องบูรณาการหลายภาคส่วนเพื่อเข้ามาช่วยแก้ปัญหา ทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ และกระทรวงการคลัง เพื่อไม่ให้ประชาชนกลับไปอยู่ในวงจรหนี้นอกระบบอีก ซึ่งภาครัฐจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยปัญหาทั้งหมด ดูแลทั้งฝ่ายเจ้าหนี้ และลูกหนี้อย่างเป็นธรรม ตั้งแต่ต้นกระบวนการไปจนถึงการปิดหนี้
ทั้งนี้ นอกจากการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบแล้ว รัฐบาลจะฟื้นฟูและสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจ ตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนถึงระดับมหภาค ยกระดับความเป็นอยู่ ไม่ให้กลับไปสู่ปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวอีก
"การทำสัญญา ที่หลายครั้งไม่เป็นไปตามกฎหมาย คิดดอกเบี้ยไม่เป็นธรรม และมีกระบวนการทวงหนี้ที่ใช้ความรุนแรง ต้องจัดให้มาทำสัญญาที่เป็นธรรม และเป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้น การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบนี้ ภาครัฐต้องแก้ปัญหาร่วมกันหลายหน่วยงาน และทำให้ลูกหนี้ได้มีโอกาสหายใจ มีกำลังที่จะดำเนินชีวิต และหาเงินมาปิดหนี้ให้ได้" นายกรัฐมนตรี ระบุ
สำหรับการดำเนินการนั้น จะมีการทำฐานข้อมูลกลาง นำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างความโปร่งใสตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ มีการให้ Tracking ID เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ตรวจสอบติดตามผลได้ มีวิธีเข้าสู่กระบวนการในหลายรูปแบบเพื่อความสะดวกให้ประชาชน และมีการสื่อสารกับประชาชนถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาอย่างตรงไปตรงมา และที่สำคัญจะต้องมีกระบวนการถ่วงดุลย์ระหว่างหน่วยงาน เพราะบางกรณีอาจมีเจ้าหนี้ หรือลูกหนี้ที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องขอให้ทำงานอย่างตรงไปตรงมา เข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยที่ถูกต้อง
ส่วนกรณีลูกหนี้ที่เข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ จะต้องชำระดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปีตามที่กฎหมายกำหนด และเมื่อลูกหนี้ได้ชำระหนี้จนเกินวงเงินที่กู้ยืมมาแล้ว ก็จะถือว่าสิ้นสุดการชำระหนี้
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ขอให้ทุกหน่วยงานทำงานร่วมกันอย่างมีเป้าประสงค์ (KPI) และมีกรอบเวลาที่ชัดเจน โดยตนจะติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด ซึ่งหลังจากขั้นตอนการไกล่เกลี่ยแล้ว กระทรวงการคลังจะเข้ามาช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้นอกระบบ ทั้งเงื่อนไข ระยะเวลา และกระบวนการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถชดใช้หนี้ได้ และรัฐบาลจะระมัดระวังไม่ให้เกิด Moral Hazard จากมาตรการการช่วยเหลือทั้งหมด
"การแก้ไขหนี้ คงไม่ใช่ยาปาฏิหาริย์ที่จะทำให้หนี้นอกระบบไม่เกิดขึ้นอีก แต่มั่นใจว่าด้วยเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจะทำให้ประชาชนมีรายได้ดีขึ้น จนไม่จำเป็นต้องก่อหนี้อีกในอนาคต และจะเพิ่มโอกาสให้รายเล็ก รายย่อย เข้าถึงแหล่งทุนในระบบมากขึ้น และในวันที่ 12 ธ.ค. จะมีการแถลงภาพรวมหนี้ครบวงจร ครอบคุลมหนี้ในระบบ และนอกระบบอีกครั้ง" นายกรัฐมนตรี ระบุ
ด้าน พล.ต.ธนา ชูวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) กล่าวว่า จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ได้เห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับความรุนแรงจากการถูกทวงหนี้ จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ตั้งแต่ 8 มิ.ย.63 เพื่อเร่งรัดการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้มีประสิทธิภาพ พร้อมกับมีสายด่วน 1599 รับแจ้งเหตุ
นอกจากนี้ ยังได้เอ็กซเรย์พื้นที่ ขึ้นบัญชีผู้ประกอบการนอกระบบ จัดกลุ่มแบ่งเป็นระดับ S ,M และ L เพื่อบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.66 สามารถจับกุมไปแล้ว 134 ราย เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น เครือข่ายรับจำนำรถยนต์ และแก๊งค์ทวงหนี้โหด เป็นต้น