ส.กุ้งไทย คาดผลผลิตปี 67 เพิ่มมาที่ 2.9 แสนตัน ราคาสูงขึ้น แนวโน้มตลาดสหรัฐฟื้น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 29, 2023 11:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ส.กุ้งไทย คาดผลผลิตปี 67 เพิ่มมาที่ 2.9 แสนตัน ราคาสูงขึ้น แนวโน้มตลาดสหรัฐฟื้น

นายเอกพจน์ ยอดพินิจ นายกสมาคมกุ้งไทย คาดการณ์ผลผลิตกุ้งไทยในปี 67 จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.9 แสนตัน จากปี 66 คาดว่าปริมาณผลผลิตกุ้งจะอยู่ที่ 2.8 แสนตันเท่ากับปีก่อน ขณะที่เชื่อว่าในปี 67 ราคากุ้งจะปรับตัวดีขึ้นประมาณ 20% เนื่องจากตลาดสหรัฐฯ เป็นบวก โดยตลาดสหรัฐฯ มีสัญญาณดีขึ้น จากการฟ้องร้องเรื่องมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD/CVD) ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ ทำให้ผู้นำเข้าเริ่มสั่งซื้อกุ้งจากไทย

ขณะที่ผลผลิตกุ้งทั่วโลก คาดว่า ในปี 66 จะอยู่ที่ประมาณ 5.07 ล้านตัน ลดลง 1% โดยประเทศจีน สามารถผลิตกุ้งได้เพิ่มขึ้นมาก ส่วนเอกวาดอร์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยต่ำกว่าที่คาด ในขณะที่ประเทศทางเอเชีย ได้แก่ เวียดนาม อินเดีย อินโดนีเซีย ผลผลิตกุ้งลดลงทุกประเทศ ส่วนปี 67 คาดผลผลิตกุ้งโลกจะลดลงราว 2%

ส.กุ้งไทย คาดผลผลิตปี 67 เพิ่มมาที่ 2.9 แสนตัน ราคาสูงขึ้น แนวโน้มตลาดสหรัฐฟื้น

ส่วนการส่งออกกุ้งของไทยล่าสุดช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค. 66) มีปริมาณอยู่ที่ 109,663 ตัน มูลค่า 36,284 ล้านบาท ซึ่งหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ส่งออกได้ปริมาณ 120,310 ตัน มูลค่า 42,341 ล้านบาท ปริมาณส่งออกลดลงจากปีก่อน 9% และมูลค่าลดลงจากปีก่อน 14%

ในปี 66 ไทยมีตลาดส่งออกกุ้งที่กระจายตัวมากขึ้น โดยมีถึง 3 ตลาดหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และจีน ตามลำดับ เฉลี่ยประเทศละประมาณ 20% นอกจากนี้ ยังเริ่มเห็นตลาดอาเซียนมาเป็นอันดับ 4 ด้วย จากในอดีตที่ไทยส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ในสัดส่วนที่มากถึง 70%

สำหรับในปี 66 ประเทศไทยและทั่วโลกเจอ Perfect Strom ในอุตสาหกรรมกุ้ง ได้แก่ 1. ผลผลิตมากเกินไป (Over supply) 2. ต้นทุนการผลิตสูง 3. ราคากุ้งตกต่ำ และ 4. โรคกุ้ง ส่งผลทำให้ราคากุ้งในปี 66 ลดลงจากปี 65 กว่า 20-30%

ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาเรื่องกุ้ง ดังนี้

1. โรคกุ้ง: ตั้ง "คณะทำงานเพื่อวิจัยและแก้ปัญหาโรคกุ้ง" และ "หน่วยงานติดตามตรวจสอบ และควบคุมโรค" เพื่อติดตามสถานการณ์ และออกมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอย่างรวดเร็ว

2. ศูนย์จุลินทรีย์: ตั้งศูนย์ปฏิบัติการด้านจุลินทรีย์ที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในศูนย์ประมง เพื่อวิจัย/คัดเลือกสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับการเพาะเลี้ยงกุ้ง ผลิต/จำหน่าย และฝึกอบรมการใช้จุลินทรีย์อย่างถูกต้อง

3. การตลาด: ส่งเสริมการตลาดในประเทศ และต่างประเทศ พัฒนาระบบโลจิสติกส์ เพื่อกระจายสินค้า จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด เร่งเจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA)

"ในปี 54 ไทยส่งออกกุ้งไปยุโรปถึง 60,000 ตัน แต่ล่าสุดปี 66 เหลือเพียง 957 ตัน เท่านั้น และมีแนวโน้มลดลงต่อเรื่อยๆ จึงขอเรียกร้องให้รัฐปลด GHP (Good Hygiene Practices) และเร่งทำ FTA เพื่อให้ไทยส่งออกกุ้งไปยุโรปได้มากขึ้น" นายเอกพจน์ กล่าว

4. ความสามารถในการแข่งขัน: เพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) ลดต้นทุนการเลี้ยง ภาษีนำเข้าวัตถุดิบ และค่าพลังงาน สนับสนุนฟาร์มกุ้งให้ได้รับการรับรองมาตรฐานตามข้อกำหนดของผู้นำเข้า เช่น BAP/ASC

นายเอกพจน์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการยื่นหนังสือต่อสภาหอการค้าไทย เพื่อให้ส่งต่อไปยังรัฐบาล ถึงแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องกุ้ง โดยเฉพาะเรื่องโรคกุ้ง ที่ทำให้ผลผลิตกุ้งไม่เพิ่มมาตลอด 10 ปี ซึ่งอยากให้รัฐบาลยกเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้อุตสาหกรรมกุ้งสามารถกลับมาผลิตกุ้งได้มากขึ้น

"เกษตรกรจำเป็นต้องปรับตัวด้วยการลดต้นทุนให้ได้ ทั้งต้นทุนทางตรง และต้นทุนแฝงที่เกิดจากความเสียหายจากโรค ต้องเพิ่มผลิตภาพการผลิต เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ รวมถึงสร้างตลาดภายในให้เข้มแข็ง เพื่อเตรียมรับผลกระทบจากราคากุ้งปีหน้า โดยภาครัฐและเอกชน ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เพื่อกระจายสินค้าที่คงคุณภาพความสดของกุ้งไทยไปถึงผู้บริโภค" นายเอกพจน์ กล่าว

ด้านนายบรรจง นิสภวาณิชย์ ที่ปรึกษาสมาคม และประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย กล่าวถึงปริมาณผลผลิตที่ทรงตัวในปีนี้ สาเหตุหลักเพราะปัญหาโรคกุ้งยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเด็ดขาด ราคากุ้งตกต่ำ ขณะต้นทุนการผลิต วัตถุดิบต่างๆ และราคาพลังงานสูงขึ้น เกษตรกรบางรายสามารถปรับตัว โดยพยายามเลี้ยงกุ้งไซส์ใหญ่ขึ้นเพื่อหนีราคา แต่บางรายก็ชะลอการลงกุ้ง ซึ่งคาดว่าสถานการณ์จะยังคงเป็นอย่างนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า

*ผลผลิตกุ้งรายภาคของไทยปี 66
ผลผลิตกุ้งภาคใต้ตอนล่างฝั่งอันดามัน คาดการณ์ว่ามีผลผลิตประมาณ 55,700 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 6% พบการเสียหายปัญหาขี้ขาว และสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้เกษตรกรจับกุ้งก่อนกำหนด และช่วงปลายปีที่ฝนตกมาก จะมีปัญหาความเค็ม ทำให้เกษตรกรทยอยจับและพักบ่อ

ผลผลิตกุ้งในพื้นที่ภาคตะวันออก มีประมาณ 69,900 ตัน เท่ากับปีที่ผ่านมา จากปัญหาโรคตัวแรงดวงขาว ขี้ขาว และหัวเหลือง เกษตรกรต้องจับกุ้งก่อนกำหนด ทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ รวมถึงปัญหาราคากุ้งตกต่ำ ทำให้เกษตรกรชะลอการเลี้ยง หรือปล่อยกุ้งลดลง

ผลผลิตภาคกลาง ประมาณ 34,200 ตัน เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากปัญหาราคากุ้งตกต่ำ ทำให้เกษตรกรบางส่วนยืดเวลาการเลี้ยงเพื่อให้ได้กุ้งไซส์ใหญ่ อย่างไรก็ตาม ปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนทำให้กุ้งโตช้า และมีความเสียหายจากโรคระบาด

ผลผลิตกุ้งพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ประมาณ 93,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 4% และจากปัญหาราคากุ้งตกต่ำ ทำให้เกษตรกรพยายามเลี้ยงกุ้งขาวให้ได้ขนาดใหญ่ เกษตรกรบางส่วนหันไปเลี้ยงกุ้งกุลาดำเนื่องจากราคาดีทั้งปี

ผลผลิตกุ้งภาคใต้ตอนล่างฝั่งอ่าวไทย 28,100 ตัน ลดลง 4% ผู้เลี้ยงประสบปัญหาราคากุ้งตกต่ำ โรคระบาด และสภาพอากาศแปรปรวน เกษตรกรลดความหนาแน่นลงเพื่อเลี้ยงกุ้งไซส์ใหญ่ ช่วงปลายปีฝนที่ตกหนักส่งผลให้น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ มีความเค็มต่ำ เกษตรกรทยอยจับกุ้งแล้วพักบ่อเพื่อเตรียมเลี้ยงครอปต่อไปในปีหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ