นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการงิน (กนง.) ในช่วงที่ผ่านมาว่า กนง.ได้ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยรวมแล้ว 2% (ตั้งแต่มิ.ย.65- พ.ย.66) ยังถือว่าต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว และอีกหลายประเทศในแถบเอเชีย อีกทั้งการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ก็ไม่ได้สูงมาก และอยู่ใน mode ที่กลับสู่ปกติ ซึ่งเป็นเหตุผลให้ กนง. คงอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้ และมองว่าอัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบัน มีความเหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่จะมีเสถียรภาพในระยะยาว
"ดอกเบี้ยที่ 2.50% ใกล้ Neutral rate สามารถรองรับกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เราไม่มี bias ว่าจะต้องขึ้น หรือลง แต่ภาพใน baseline ก็เป็นไปตามที่เรามอง ไม่จะปรับลด GDP และเงินเฟ้อ แต่แนวโน้มหลัก ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ทิศทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ สินเชื่อ ก็ยังเป็นไปตามที่เรามองไว้"
"เรื่องการลดดอกเบี้ยจะเหมาะสมเมื่อไร หรือเมื่อไรจะเริ่มเห็นดอกเบี้ยขาลงนั้น จุดยืนของไทยกับต่างประเทศมีความแตกต่างกัน ในส่วนของไทย ถ้าไม่มีอะไรมากระทบกับ Outlook จุดยืนในปัจจุบันก็ถือว่าเหมาะสม ไม่ได้จะต้องลดหรือเพิ่มในระยะอันใกล้นี้" นายปิติ ระบุ
นายปิติ ยังมองว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยได้ทยอยฟื้นตัวกลับมาอยู่เหนือระดับในช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว นอกจากนี้ การฟื้นตัวของภาคบริการเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่ทำให้ภาคแรงงาน กลับมาอยู่ในระดับก่อนโควิดได้ และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะกลับสู่แนวโน้มปกติได้ราวปลายปี 68 ที่ระดับ 39 ล้านคน ตามการฟื้นตัวของกลุ่ม non-China
โดยระยะข้างหน้า แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะสมดุลขึ้น โดยภาคการผลิตมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวตามการส่งออกสินค้า การส่งออกที่กลับมาขยายตัวได้ในปี 67 จะช่วยเป็นแรงเสริมให้กับเศรษฐกิจไทย แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังมีประเด็นที่เป็นความเสี่ยง เช่น เศรษฐกิจโลกแย่กว่าที่คาด โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน และผลกระทบจากสงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาส
สำหรับความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้หรือไม่นั้น นายปิติ กล่าวว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการ ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนทั้งรูปแบบ และกระบวนการ ซึ่งหากจะมีการทำโครงการเพื่อเข้ามาเป็นแรงเสริมในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็จะช่วยได้ในระยะสั้นแค่ภายในปี 67 เท่านั้น แต่หลังจากนั้นแล้วคือในปี 68 แรงกระตุ้นที่จะมีต่อเศรษฐกิจก็จะหมดไป
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ที่ล่าสุด กนง. คาดว่าจะเติบโตได้ 3.8% (รวมผลดิจิทัลวอลเล็ต) ลดลงจากประมาณการเดิมที่ประเมินไว้ 4.4% นั้น ส่วนหนึ่งมาจากเชื่อว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าไทย อาจจะน้อยกว่าที่คาดไว้ ประกอบกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่เลื่อนเวลาออกไปช้ากว่าสมมติฐานเดิม รวมทั้งเม็ดเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการเปลี่ยนไป ซึ่งทำให้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ยังมีความไม่แน่นอนทั้งรูปแบบ และกระบวนการ
"เศรษฐกิจในปีหน้าที่อยู่ในระดับ 3% ก็ถือว่าเป็นการเติบโตใกล้กับระดับศักยภาพ เป็นการฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง หากจะมีแรงกระตุ้นมาเสริม ก็คงจะเสริมได้ในปี 67 แต่พอปี 68 ก็จะทยอยหมดไป ไม่ได้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน" นายปิติ ระบุ
สำหรับความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยที่ กนง.ให้ความสำคัญเป็นพิเศษนั้น นายปิติ กล่าวว่า ถ้าในระยะสั้นหรือช่วงปีหน้า คงเป็นเรื่องของอานิสงส์หรือประโยชน์ที่ภาคการส่งออกของไทยจะได้รับจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งศักยภาพการแข่งขันของไทยอาจจะด้อยลง จากอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ประโยชน์ที่การส่งออกไทยจะได้รับอาจจะมีไม่มากเท่ากับอดีต ส่วนในระยะปานกลาง-ระยะยาว จะเป็นความเสี่ยงในเรื่องปัจจัยเชิงโครงสร้าง ความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการภาคธุรกิจที่จะปรับตัวได้มากน้อยเพียงใด ในสภาวะที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดนิ่ง
ส่วนกรณีที่รัฐบาลเตรียมจะปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ซึ่งเป็นการปรับฐานเงินเดือนแรกเข้านั้น มองว่า จะมีผลต่อเงินเฟ้อน้อยมาก ซึ่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อไม่ได้เยอะมากพอที่จะมีนัยสำคัญ ในขณะที่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ คาดว่าจะมีผลต่อเงินเฟ้อราว 0.15%
นายปิติ ยังมองว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ถือว่ามาได้ไกลพอสมควรจากช่วงที่ประเทศประสบภาวะวิกฤติโควิดในช่วงปี 63-64 ซึ่งปัจจุบันจำนวนผู้มีงานทำก็กลับไปอยู่สูงกว่าช่วงก่อนโควิดแล้ว อัตราเงินเฟ้อที่เคยพุ่งสูง ก็เริ่มลดลงมาจนอยู่ระดับ 1% ในปีนี้ ซึ่งเป็นผลจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่ถือว่าเป็นพระเอก ในขณะที่มาตรการทางการเงิน ก็ได้เข้ามาช่วยดูแลเศรษฐกิจในช่วงที่มีความผันผวนให้ทยอยฟื้นตัวได้อย่างเหมาะสม
"ถ้ามองจากช่วงโควิดมาจนถึงปัจจุบัน การฟื้นตัวในองค์รวมยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่เศรษฐกิจไทยโตแบบ K Shape ตอนนี้ก็คลี่คลายไปพอควรแล้ว และการฟื้นตัวก็มีการกระจายตัวไปในระดับหนึ่ง ภาพรวมต้องถือว่าไทยทำได้ดี การลดเงินเฟ้อ ก็ถือว่ามาได้ไกลกว่าต่างประเทศ ที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ที่ 4-5% เพราะฉะนั้น กนง.จึงไม่จำเป็นต้องกระชากแรง หากมองในอนาคต ในแง่ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แม้ปีนี้จะ soft กว่า แต่การกลับมาของการส่งออกที่จะช่วยการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อที่โน้มเข้ากรอบ เพราะฉะนั้นจุดยืนในเรื่องนโยบาย (นโยบายการเงิน) ก็ถือว่าเหมาะสมแล้ว ส่วนที่มองว่าเศรษฐกิจอยู่ในจุดวิกฤติหรือไม่นั้น คงต้องแล้วแต่การตีความว่าจะมองว่าวิกฤติ หรือไม่วิกฤติ" นายปิติ กล่าว