นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ย.66 อยู่ที่ 107.45 ลดลง 0.44% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไป 11 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.) เฉลี่ยอยู่ที่ 1.41%
ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน พ.ย.66 อยู่ที่ 104.52 เพิ่มขึ้น 0.58% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐาน 11 เดือนแรกของปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 1.33%
"เงินเฟ้อเดือน พ.ย.ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง และต่ำสุดในรอบ 33 เดือน เนื่องจากมาตรการภาครัฐ ทำให้สินค้าในกลุ่มพลังงานปรับลดลง โดยเฉพาะราคาน้ำมัน รวมถึงเนื้อสุกร ไก่สด และน้ำมันพืชที่ราคาต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนราคาสินค้าและบริการอื่นๆ เคลื่อนไหวในทิศทางปกติ" นายพูนพงษ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในขณะนี้ยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะทำให้เกิดปัญหาเงินฝืด แม้ตัวเลขเงินเฟ้อจะลดลงต่อเนื่องกัน 2 เดือน เพราะต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย ในทางเทคนิคจึงยังไม่เข้าข่ายที่จะเกิดภาวะเงินฝืด
ผู้อำนวยการ สนค.กล่าวว่า ในเดือน พ.ย.66 ราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้น 0.20% ตามการเพิ่มขึ้นของราคาข้าวสาร แป้ง ไข่ นมข้นหวาน นมเปรี้ยว นมถั่วเหลือง กาแฟผงสำเร็จรูป กับข้าวสำเร็จรูป และอาหารเช้าที่ปรับขึ้นเล็กน้อย
ส่วนราคาสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.87% ตามการลดลงของราคาสินค้ากลุ่มพลังงาน (ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าโดยสารรถไฟฟ้า) ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม สบู่ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว) เครื่องใช้ไฟฟ้า (เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ)
เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ (จากข้อมูลเดือน ต.ค.66) พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำเป็นอันดับ 8 จาก 135 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข โดยอัตราเงินเฟ้อของไทยเคลื่อนไหวสอดคล้องกับหลายประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากแนวโน้มลดลงของราคาสินค้ากลุ่มอาหาร มาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ และฐานราคาเดือนเดียวกันของปี 65 ที่นำมาใช้คำนวณเงิอนเฟ้ออยู่ในระดับสูง
สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนธันวาคม 2566 มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากช่วงเดือนที่ผ่านมาตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ และเครื่องประกอบอาหาร กลุ่มพลังงาน ทั้งค่ากระแสไฟฟ้าน้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มดีเซล และแก๊สโซฮอล์ รวมถึงสินค้าอุปโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพอีกหลายรายการ และต้นทุนการผลิตที่ปรับลดลง จากมาตรการลดค่าครองชีพให้กับประชาชน ประกอบกับฐานราคาในช่วงเดียวกันของปี 2565 อยู่ระดับสูงมีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง
สำหรับคาดการณ์เงินเฟ้อในปี 67 จะอยู่ที่ระดับ -0.3 ถึง 1.7% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 0.7% ซึ่งคำนวณเผื่อเรื่องการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไว้แล้วว่าจะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.2% โดยทิศทางชะลอตัวลงต่อเนื่องจากปี 66 จากมาตรการลดค่าครองชีพภาครัฐ สินค้าสำคัญปรับราคาขึ้นอย่างจำกัด เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง
ขณะที่มีปัจจัยสนับสนุนให้เงินเฟ้อขยายตัว ได้แก่ ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น การจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่ส่งผลให้ทิศทางเงินเฟ้อไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ได้แก่ ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ค่าเงินบาทผันผวน มาตรการช่วยลดค่าครองชีพของรัฐ