ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 55.1 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 57.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 69.9 ซึ่งดัชนีฯ ทุกรายการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4
สำหรับปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชน โดยเฉพาะการปรับลดราคาพลังงาน และการยกเว้นวีซ่านักท่องเที่ยว, จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามามากขึ้นหลังจากเปิดประเทศ, ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดีเกือบทฺกรายการสำคัญ, ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง, การส่งออกของไทยเดือนต.ค. และความคาดหวังของประชาชนเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และดูแลค่าครองชีพของรัฐบาลในช่วงปลายปี 66
ส่วนปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.5% ต่อปี และปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจไทย (GDP) โดยปี 66 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.4% จากประมาณการเดิมที่ 2.8% ส่วนปี 67 หากไม่รวมดิจิทัลวอลเล็ต GDP จะอยู่ที่ 3.2% และหากรวมดิจิทัลวอลเล็ต GDP จะอยู่ที่ 3.8% จากระดับเดิมที่ 4.4%, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผย GDP ไตรมาส 3/66 ขยายตัวได้ 1.5%, SET Index ในเดือนพ.ย. 66 ปรับตัวลดลง 1.65 จุด, ความกังวลต่อสถานการณ์เอลนีโญ และภัยแล้ง ที่จะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำ, ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ยังคงยืดเยื้อ และเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย
"ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาล และนโยบายลดค่าครองชีพ ตลอดจนมีนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ นอกจากนี้ ผู้บริโภคเห็นว่าการเมืองไทยจะมีเสถียรภาพมากขึ้นในอนาคต" นายธนวรรธน์ ระบุ
อย่างไรก็ตาม การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามที่อาจยืดเยื้อบานปลาย ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบาย ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทย ทำให้ในช่วงนี้หดตัวลง และมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค
"เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณแปลกๆ ยังไม่น่าไว้วางใจ ต้องการการกระตุ้น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีต่อเนื่องตั้งแต่จัดตั้งรัฐบาล 4 เดือนติด อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นยังต่ำ คนยังไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ผู้ประกอบการจะบอกว่าเศรษฐกิจไม่คึกคัก การจับจ่ายใช้สอยยังซึม ความเชื่อมั่นไม่ได้มีแรงส่งเศรษฐกิจรุนแรง ยังโตแบบ K-Shape สินค้าคงทนถาวรคนยังจับจ่ายใช้สอย" นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะเงินเฟ้อ เดือนพ.ย. -4.4% ต่ำสุดในรอบ 33 เดือน ซึ่งการติดลบ 2 เดือนยังไม่เป็นสัญญาณของเงินฝืด แต่ความน่ากลัว คือ มีการติดลบ 2 เดือน และเป็นหมวดที่ไม่ผูกพันกับราคาพลังงาน คือหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม และอาหารสด มีสัญญาณของการติดลบ สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยมีอาการซึม และขาดแรงกระตุ้น จึงจำเป็นต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน เนื่องจากกำลังซื้อแผ่ว ภาคเอกชนเริ่มขาดความมั่นใจ แต่ยังเชื่อมั่นในระดับปกติ ส่วนภาคประชาชนความเชื่อมั่นต่ำกว่าปกติมาต่อเนื่องยาวนาน
อย่างไรก็ดี มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ได้แก่ Easy E-Receipt (e-Refund เดิม) ซึ่งรัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้วันที่ 1-15 ก.พ. 67 ให้มีการซื้อสินค้าเต็มที่ 50,000 บาท และนำไปลดหย่อนภาษีในปีภาษีถัดไป โดยมองว่า นโยบายนี้จะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจได้ประมาณ 50,000 ล้านบาท อาจกระตุกระบบเศรษฐกิจได้ 0.2-0.3%
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการแก้หนี้นอกระบบ จากข้อมูลของภาครัฐตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 66 ที่ภาครัฐเปิดให้ลงทะเบียนหนี้นอกระบบ พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วประชาชนมีหนี้นอกระบบ 50,000 บาท/คน โดยธนาคารจะปล่อยสินเชื่อสูงสุดประมาณ 50,000 บาท/คน ดอกเบี้ยประมาณ 8% ดังนั้น ถ้าดอกเบี้ยหนี้นอกระบบหายไปจาก 20% จะทำให้วงเงินของการคืนดอกเบี้ยให้กับเจ้าหนี้จะอยู่ในกระเป๋าของลูกหนี้ และถ้าลูกหนี้นำเงินไปจับจ่ายใช้สอยจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างน้อย 50,000 ล้านบาท กรณีที่รัฐบาลทำสำเร็จทุกราย
"ถ้าแก้หนี้นอกระบบได้ รวมกับ e-Refund ถ้า 2 นโยบายนี้รวมกันอาจทำให้มีระบบเม็ดเงินหมุนตลอดทั้งปีได้มากขึ้น กระตุกเศรษฐกิจได้ประมาณ 0.4-0.6% ซึ่งถ้าเศรษฐกิจถูกเคลื่อนไป และการส่งออกและการท่องเที่ยวค่อยๆ ดีขึ้น พอดิจิทัลวอลเล็ตถูกใช้ในเดือนพ.ค. 67 เศรษฐกิจก็น่าจะเดินได้ หอการค้าไทยยังไม่ปรับประมาณ GDP ยังคงคาดการณ์ที่ 3.0-3.5% เศรษฐกิจจะโตเกินกว่านี้หรือไม่ขึ้นอยู่กับดิจิทัลวอลเล็ตว่าจะผ่านกฤษฎีกาหรือไม่ ถ้าผ่านก็น่าจะค่อยๆ ใช้ แต่ถ้าไม่ผ่านจะเป็นประเด็นทางการเมืองหรือไม่ ดังนั้น ตอนนี้จึงยังไม่ประเมินภาวะเศรษฐกิจเพราะมุมมองยังไม่ชัด แต่โดยรวมเศรษฐกิจมีความน่ากังวล ควรเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี 66 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 1/67" นายธนวรรธน์ กล่าว