นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) เดือนพ.ย. 66 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 23-30 พ.ย. 66 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 54.3 ลดลงจากระดับ 55.4 ในเดือนต.ค. 66 ซึ่งเป็นการปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2
โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้
- กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 53.8 ลดลงจากเดือนต.ค. ซึ่งอยู่ที่ 54.9
- ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 54.4 ลดลงจากเดือนต.ค. ซึ่งอยู่ที่ 55.6
- ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 57.1 ลดลงจากเดือนต.ค. ซึ่งอยู่ที่ 58.1
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 53.2 ลดลงจากเดือนต.ค. ซึ่งอยู่ที่ 54.4
- ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 54.2 ลดลงจากเดือนต.ค. ซึ่งอยู่ที่ 55.1
- ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 53.4 ลดลงจากเดือนต.ค. ซึ่งอยู่ที่ 54.3
ปัจจัยลบ ได้แก่
1. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.5% ต่อปี เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน เป็นระดับที่เหมาะสมกับบริบท ของเศรษฐกิจไทยที่กำลังทยอยฟื้นตัว และได้ปรับลดการคาดการณ์ GDP ปี 66 ลงอยู่ที่ 2.4% และปี 67 จะอยู่ที่ 3.2% หากไม่รวมดิจิทัลวอลเล็ต แต่ถ้ารวมดิจิทัลวอลเล็ต จะอยู่ที่ 3.8%
2. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยเศรษฐกิจไทย (GDP) ไตรมาส 3/66 ขยายตัวได้ 1.5% เนื่องจากการส่งออกของไทยหดตัวติดลบต่อเนื่อง 3 ไตรมาส
3. สถานการณ์ระหว่างอิสราเอลและฮามาสในฉนวนกาซายังดำเนินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และอาจยืดเยื้อ จนส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและพลังงานโลกให้ขยับสูงขึ้น
4. นักลงทุนทั่วโลกมีความกังวลต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
5. ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอยู่ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักยังคงมีความไม่แน่นอนสูง อาทิ จีน สหรัฐ และยุโรป
6. SET Index เดือน พ.ย. 66 ปรับตัวลดลง 1.65 จุด จาก 1,381.83 ณ สิ้นเดือน ต.ค. 66 เป็น 1,380.18 ณ สิ้นเดือน พ.ย. 66
7. ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 36.522 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน ต.ค. 66 เป็น 35.466 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน พ.ย. 66 สะท้อนว่ามีการไหลออกสุทธิของเงินตราต่างประเทศ
8. ความกังวลในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลต่างๆ อาทิ เงินดิจิทัล และการเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่จะกระทบต่อต้นทุนของธุรกิจที่เพิ่มขึ้น
9. ความกังวลต่อสถานการณ์เอลนีโญ และภัยแล้ง ที่จะส่งผลกระทบในระยะยาวและกระทบต่อความต้องการใช้น้ำในภาคการเกษตร และเพื่อการอุปโภค-บริโภค
ปัจจัยบวก ได้แก่
1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชน โดยเฉพาะการปรับลดค่าไฟฟ้า ลดราคาน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน
2. มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยกเว้นการขอวีซ่าฟรีให้นักท่องเที่ยวอีก 2 ประเทศ ไต้หวัน-อินเดีย โดยมีผลใช้ตั้งแต่ 10 พ.ย. 66-10 พ.ค. 67 เป็นระยะเวลา 6 เดือน
3. นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมากขึ้นหลังจากการเปิดประเทศ และประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น
4. การส่งออกของไทยเดือน ต.ค. 66 ขยายตัว 8.0% มูลค่าอยู่ที่ 23,578.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 10.2% มีมูลค่าอยู่ที่ 24,411.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 832.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
5. ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 95 ในประเทศปรับตัวลดลงโดยปรับตัวลดลงประมาณ 4.0 และ 2.5 บาทต่อลิตร ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศยังคงอยู่ในระดับทรงตัว ณ สิ้นเดือนต.ค. 66
6. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัว ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น และมีกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น
7. ประชาชนเริ่มมีสัญญาณในการจับจ่ายใช้สอยที่กลับมาเป็นปกติมากขึ้น แต่ยังคงมีการระวังการเลือกซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ภาคธุรกิจได้เสนอแนะแนวทางต่อรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหา เช่น
- มาตรการส่งเสริมความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในประเทศ โดยใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับประชาชน
- มาตรการดูแลต้นทุนของภาคธุรกิจให้มีความเสถียรภาพและไม่กระทบกับภาคธุรกิจ
- ส่งเสริมสินค้าส่งออกของไทยให้เปิดตลาดต่างประเทศให้มีความเชื่อมั่นกับผลิตภัณฑ์ของไทย
- ดูแลบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการเกษตร และภาคธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อรองรับกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป
- การดูแลและช่วยเหลือราคาสินค้าเกษตร ตลอดจนผลผลิตทางการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยธรรมชาติ
- นโยบายและมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมของไทยสู่การปรับเปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อผลักดันสินค้าไทยไปสู่ Net Zero และทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน
- รักษาเสถียรภาพทางด้านการเงินให้สมดุลเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก
ด้าน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ กล่าวว่า ผู้ประกอบการเริ่มมีมุมมองเชิงลบต่อเศรษฐกิจ เกิดจาก 1. การท่องเที่ยวที่ไม่เป็นไปตามเป้า จากเหตุการณ์ที่สยามพารากอน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน 2. ความกังวลและกลัวว่าน้ำจะไม่พอ จากเอลนีโญ และ 3. มาตรการกระตุ้นของรัฐยังไม่เห็นผล หรือยังไม่ค่อยมี
ดังนั้น เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงสุญญากาศของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนโดยอัตโนมัติ ด้วยการส่งออกที่ไม่โดดเด่นที่เพิ่งกลับมาบวกแค่สองเดือน โดยคาดว่าไตรมาส 4/66 เศรษฐกิจไทยโตประมาณ 4% แต่ไม่สามารถพยุงหรือประคองกำลังซื้อได้ และกำลังซื้อที่หายไปจากหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง นอกจากนี้ ยังมีความกังวลต่อนโยบายของภาครัฐที่จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ทั้งค่าไฟ และค่าแรง