ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 66 ซึ่งคณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี โดยในการประชุมครั้งนี้ มีกรรมการ 1 รายลาประชุม
คณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับปัจจุบันเหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว โดยเศรษฐกิจไทยในภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างสมดุลขึ้นในปี 2567 และ 2568 แต่มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยอาจไม่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเท่าที่คาดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไป
ด้านอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยประมาณการสำหรับปี 2566 ทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.3% โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำในช่วงที่เหลือของปี ส่วนปี 2567 และ 2568 จะปรับสูงขึ้น โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 2.0% และ 1.9% ตามลำดับ และหากรวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2567 จะอยู่ที่ 2.2% และ 1.5% ตามลำดับ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงด้านสูง
ส่วนภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้น แต่ในภาพรวมไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ต้องติดตามพัฒนาการของคุณภาพสินเชื่อที่อาจได้รับแรงกดดันจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนที่ยังเปราะบางจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นและรายได้ที่ฟื้นตัวช้า คณะกรรมการฯ สนับสนุนการใช้มาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง
สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าจะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มและความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว ทั้งในกรณีที่รวมและไม่รวมแรงส่งเพิ่มเติมจากโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล โดยเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวในปีหน้าด้วยแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สมดุลมากขึ้น จากการส่งออกสินค้าและภาคการผลิตที่จะกลับมาขยายตัว ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง
กนง. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 2.4% ในปี 2566 โดยมีแรงส่งสำคัญจากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนให้ขยายตัวดีโดยเฉพาะในหมวดบริการ ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้าและภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องฟื้นตัวช้า การฟื้นตัวจึงยังไม่ครอบคลุมในทุกภาคเศรษฐกิจ สำหรับปี 2567 และ 2568 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวสมดุลมากขึ้น โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.2% และ 3.1% ตามลำดับ ในกรณีที่ไม่รวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล
ทั้งนี้ หากรวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล อัตราการขยายตัวในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 3.8% เทียบกับ 4.4% ที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน
อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้ามีอยู่สูง โดยเฉพาะความเสี่ยงที่การส่งออกสินค้าไทยอาจไม่ได้รับผลดีเท่าที่ควรจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการกลับมาของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์จากปัญหาเชิงโครงสร้างในหลายมิติ
สำหรับข้อมูล GDP ไตรมาสที่ 3/66 ที่ออกมาต่ำกว่าคาด หากพิจารณาในรายละเอียดจะเห็นการขยายตัวต่อเนื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีในหมวดบริการ ขณะที่ภาคการส่งออกยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจในภาพรวมที่สอดคล้องกับการประเมินโดยใช้ข้อมูลอื่นที่หลากหลายมาพิจารณาประกอบอย่างรอบด้าน อาทิ เครื่องชี้ตลาดแรงงานที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง โดยอัตราการว่างงานปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่น้อยกว่า 1% ในไตรมาส 3/66 จากที่เคยอยู่ในระดับสูงถึง 2.20% ในช่วงวิกฤต COVID-19 รวมถึงเครื่องชี้ด้านความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี เป็นต้น
คณะกรรมการฯ เห็นว่าการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยจาก GDP มีความท้าทายมากขึ้น สะท้อนจาก GDP ด้านการใช้จ่ายและการผลิตที่มีความแตกต่างกันมากขึ้น ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงของระดับสินค้าคงคลังและค่าสถิติคลาดเคลื่อน (change in stock and statistical discrepancy) มีอิทธิพลต่อตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมากในระยะหลัง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลของโครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ การเกิดขึ้นของบริการในรูปแบบใหม่ รวมถึงบทบาทของการบริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ที่เข้ามาทดแทนช่องทางเดิม ส่งผลให้การวัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีความท้าทายมากขึ้น
คณะกรรมการฯ จึงให้ความสำคัญกับการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับมือกับความท้าทายดังกล่าว รวมทั้งติดตามเครื่องชี้ที่หลากหลายเพื่อให้การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีความครอบคลุมและรอบด้าน
แม้การใช้จ่ายในประเทศจะฟื้นตัวต่อเนื่องหลังการเปิดประเทศ แต่ความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจถูกกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้างในหลายมิติ อาทิ
(1) โครงสร้างการผลิตโลกที่เปลี่ยนไป เช่น นโยบายของจีนที่หันมาเน้นการผลิตในประเทศทำให้ไทยได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกไม่มากเท่าในอดีต
(2) การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีที่อาจส่งผลให้ไทยหลุดออกจากห่วงโซ่การผลิตสมัยใหม่
(3) การที่แรงงานไทยไม่สามารถปรับตัวเพื่อรองรับกระแสโลกใหม่ได้อย่างทันกาล การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเหล่านี้บั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของไทยและอาจทำให้ภาคอุตสาหกรรมที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจในอดีตไม่สามารถเติบโตได้ในระดับสูงเช่นเดิม
คณะกรรมการฯ เห็นว่าโจทย์สำคัญของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปคือการเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การยกระดับทักษะแรงงาน และการผลักดันให้ธุรกิจปรับตัวเพื่อรองรับกระแสโลกใหม่
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามความสามารถในการระดมทุนของธุรกิจ โดยผลของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมายังส่งผ่านไปสู่ต้นทุนการกู้ยืมไม่เต็มที่ จากการที่สินเชื่อบางส่วนที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่จะทยอยรับการปรับอัตราดอกเบี้ยใหม่ นอกจากนี้ตราสารหนี้ภาคเอกชนบางส่วนโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงอาจเผชิญความท้าทายในการระดมทุนทดแทนหุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดไถ่ถอน (rollover risk) อย่างไรก็ดีในภาพรวมการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง โดยมีความเสี่ยงทั้งด้านสูงและด้านต่ำ จาก
(1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
(2) ผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
(3) ความรุนแรงของปรากฏการณ์เอลนีโญ
(4) ผลจากนโยบายภาครัฐ อาทิ โครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล และมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ
คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้รักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินเพื่อรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า อีกทั้งเป็นการป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงินที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน เช่น การก่อหนี้ที่มากจนเกินไปหรือพฤติกรรมเพิ่มความเสี่ยงเพื่อแสวงหาผลตอบแทน (search for yield) เป็นต้น ซึ่งจะสร้างความเปราะบางให้กับเศรษฐกิจในอนาคต ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะพิจารณาการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและ เงินเฟ้อ (outlook dependent)