นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย เปิดมุมมองทิศทางการลงทุนในปี 67 ประเมิน 3 แนวโน้มของเศรษฐกิจ ได้แก่ 1) เศรษฐกิจโลกจะเติบโตต่อได้ แต่ในอัตราที่ชะลอลง โดยสหรัฐฯ สามารถเลี่ยงภาวะถดถอย ยุโรปค่อยๆ ฟื้นตัว ขณะที่จีนกำลังรอมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม 2) เงินเฟ้อจะลดลง ธนาคารกลางจะหยุดขึ้นดอกเบี้ย และจะเริ่มลดดอกเบี้ยในไตรมาส 2 หรือครึ่งหลังของปี และ 3) ตลาดจะจับตาประเด็นการเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้งสหรัฐฯ ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ รวมทั้งความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
พอร์ตการลงทุนที่แนะนำคือ เงินลงทุนส่วนใหญ่ (50-70%) ให้ลงทุนเป็นพอร์ตหลักในกองทุนผสมแบบ Risk-based asset allocation และเงินลงทุนในพอร์ตเสริม (30-50%) ให้กระจายลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพดีทั้งพันธบัตรและหุ้นกู้ เพราะดอกเบี้ยรับที่สูงกว่าอดีตและโอกาสที่ราคาจะเพิ่มขึ้นเมื่อดอกเบี้ยในตลาดปรับลดลง
ด้านตลาดหุ้นยังมีความท้าทายจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จึงควรเน้นกองทุนที่บริหารเชิงรุกในหุ้นเติบโตทั่วโลกและหุ้นเอเชียที่ราคาถูกกดดันมามากทั้งในตลาดหุ้นไทย จีน อินเดีย รวมทั้งเวียดนาม สำหรับ Hedge Funds ที่จะช่วยลดความผันผวนและสร้างผลตอบแทนที่ไม่อิงกับภาวะตลาด ควรเน้นสินทรัพย์อ้างอิงในตลาดใหญ่ที่มีสภาพคล่องสูง เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลหลัก
"ในปี 67 ธนาคารยังคงมุ่งมั่นพัฒนาบริการและสานต่อโซลูชัน 4 เสาหลัก ที่ประกอบไปด้วย การลงทุนบนหลักการ Risked-based Asset Allocation การลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก การลงทุนเพื่อความยั่งยืน และการบริหารจัดการทรัพย์สินครอบครัว ซึ่งเราเชื่อว่าโซลูชันเหล่านี้ ยังคงสอดคล้องกับสภาวะตลาดและสภาพเศรษฐกิจ
ความท้าทายคือโซลูชันทั้ง 4 จะสามารถส่งมอบให้เกิดประโยชน์กับลูกค้ามากที่สุดได้อย่างไร เราจะต้องขับเคลื่อนการสื่อสารอย่างไร ให้เกิดประสิทธิภาพและถ่ายทอดความรู้สู่ลูกค้าในวงกว้าง เพื่อเปลี่ยนผ่านชุดความคิดและวิธีการบริหารจัดการทรัพย์สินแบบเดิมๆ โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือการเก็บรักษาและปกป้องให้ทรัพย์สินที่มีอยู่ไม่ให้สูญมูลค่าไป การวางแผนเพื่อสร้างการเติบโตในการสร้างผลตอบแทนที่ดีในทุกสภาวะเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อสร้างผลตอบแทน และการส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างยั่งยืน" นายจิรวัฒน์ กล่าว
นายจิรวัฒน์ กล่าวว่า บริบทการลงทุนในปี 2566 มีแนวโน้มดีขึ้น ตลาดหุ้นโลกปรับตัวสูงขึ้นถึงกว่า 17% โดยได้ปัจจัยสนับสนุนมาจากแนวโน้มการสิ้นสุดของวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงด้านความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศยังคงสร้างแรงกดดันอยู่ สำหรับผลตอบแทนของตลาดหุ้นแยกเป็นรายประเทศ พบว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่น (Nikkei225) และสหรัฐฯ (S&P500) ปรับตัวสูงขึ้น 30% และ 21% ตามลำดับ
โดยในฝั่งสหรัฐฯ เป็นผลมาจากหุ้น 7 นางฟ้า (Magnificent 7) ที่ปรับตัวขึ้นมาอย่างดี ในขณะที่ SET Index ของไทยเป็น 1 ในดัชนีตลาดหุ้นที่ปรับตัวลงมากที่สุดถึงประมาณ - 15% และหากแยกผลตอบแทนเป็นรายสินทรัพย์ พบว่าตลาดหุ้นโลกปรับตัวขึ้นได้ดีที่สุด รองลงมาเป็นทองคำ ในขณะที่ตราสารหนี้ส่วนใหญ่บวกได้เล็กน้อย ในทางกลับกันการลงทุนในน้ำมันส่งผลลบในปีนี้
"KBank Private Banking ในฐานะที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนให้ความสำคัญกับการสร้างพอร์ตการลงทุนที่มีความคล่องตัวสูงเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง กระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนในสินทรัพย์ทั่วโลก รวมทั้งให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อความยั่งยืน โดยพอร์ตที่แนะนำอย่าง K-ALPHA มีโครงสร้างการลงทุนแบ่งเป็นพอร์ตหลัก (Core Portfolio) และพอร์ตเสริม (Satellite Portfolio) โดยพอร์ตหลักจะลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายทั่วโลกในสัดส่วนที่เหมาะสมกับเป้าหมายของนักลงทุนในระยะยาว ขณะที่พอร์ตเสริมจะบริหารเชิงรุกทั้งในหุ้น ตราสารหนี้ และเฮดจ์ฟันด์ (Hedge Funds) ให้ตอบรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจและตลาดการเงิน ณ ขณะนั้น
โดยในปีนี้ K-ALPHA มีผลตอบแทนดีขึ้นทั้ง 3 โมเดล ได้แก่ Conservative 1.5%, Moderate 1.4% และ Aggressive 1.3% โดยกลุ่มกองทุน K-ALLROADS Series ที่เป็นพอร์ตหลักสร้างผลตอบแทนเป็นลำดับต้นๆ ของกลุ่มกองทุนรวมผสมในประเทศไทย สำหรับกองทุนเด่นในพอร์ตเสริมทั้งในส่วนของหุ้น ตราสารหนี้ และเฮดจ์ฟันด์ ได้แก่ TBRAND, UPINCM-N และ DAOL-FXALPHA-UI ตามลำดับ"
ในปี 66 KBank Private Banking นำเสนอบริการผ่านกลยุทธ์โซลูชัน 4 เสาหลัก เพื่อส่งมอบบริการบริหารความมั่งคั่งอย่างครบวงจร ประกอบด้วย
Risk-based Asset Allocation นำโดยกองทุนเรือธง ที่มากับนวัตกรรมการลงทุนขับเคลื่อนอัตโนมัติ ที่เหมาะจะเป็นพอร์ตหลักให้นักลงทุน ประกอบด้วย 4 กองทุนตามระดับความเสี่ยง คือ K-ALLBASIC, K-ALLRD-UI, K-ALLGR-UI และ K-ALLEN-UI โดยในปีนี้ ทั้ง 3 กองทุน มีผลการดำเนินงานที่โดดเด่น เมื่อเทียบกับกองทุนรวมผสมในประเทศไทย ทั้งในด้านผลตอบแทน (Return) ผลตอบแทนเมื่อปรับด้วยค่าความเสี่ยง (Risk-adjusted Return) และระดับผลการขาดทุนสูงสุด (Maximum Drawdown)
Alternative Investment การนำเสนอนวัตกรรมการลงทุนทางเลือกด้วยผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายในสินทรัพย์นอกตลาด (Private Asset) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยลดความผันผวนของการลงทุนตลอด 3 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มอีกด้วย โดยในปีนี้ KBank Private Banking ร่วมกับพันธมิตรนำเสนอกลยุทธ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกองทุนอสังหาฯ นอกตลาด กองทุนหุ้นนอกตลาดในกลุ่มธุรกิจที่เริ่มก่อตั้งกิจการ และกองทุนหุ้นจีนนอกตลาด เป็นต้น
Sustainabiltiy Investment กลยุทธ์การลงทุนภายใต้แนวคิดที่ว่า โลกกำลังเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจที่สร้างความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปสู่โลกที่ระบบเศรษฐกิจยังคงเติบโตได้ในสภาวะแวดล้อมที่สะอาดขึ้นและโลกที่ยั่งยืนขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนผ่านนี้จะสร้างโอกาสในการลงทุนมูลค่ามหาศาล และตลาดทุนรวมทั้งนักลงทุนจะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านนี้ ดังนั้น การลงทุนเพื่อความยั่งยืนจึงไม่ใช่เป็นเพียง ?ทางเลือก? ของการลงทุน แต่เป็น ?ทางรอด? ให้กับพอร์ตการลงทุนและโลกในอนาคตที่ปลอดภัยและยั่งยืนขึ้น
บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการทรัพย์สินครอบครัว ปัจจุบันมีลูกค้าที่ไว้วางใจใช้บริการรวมประมาณ 820 ครอบครัว คิดเป็น 39% ของลูกค้าไพรเวทแบงก์กิ้งทั้งหมด รวมทรัพย์สินครอบครัวภายใต้การบริหารจัดการประมาณ 1.9 แสนล้านบาท โดยในปี 2566 ได้เพิ่มบริการแก้ไขความขัดแย้งของครอบครัว (Reconciliation Service) เพื่อให้การวางแผนธุรกิจหรือทรัพย์สินกงสีของครอบครัวดำเนินอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะที่บริการที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ ให้บริการที่ปรึกษาครอบคลุมอสังหาริมทรัพย์มูลค่ารวม 4.2 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการ Land Loan for Investment เพื่อแปลงทรัพย์สินที่ดินมาเป็นสินเชื่อเพื่อการลงทุน คิดเป็นมูลค่าสินเชื่อที่อนุมัติแล้ว 1.9 พันล้านบาท
"ตลอดปี 66 KBank Private Banking ให้บริการลูกค้าประมาณ 13,000 ราย สินทรัพย์ภายใต้การจัดการทั้งหมดประมาณ 9 แสนล้านบาท และจากการส่งมอบโซลูชันบริหารความมั่งคั่งที่ครบวงจร ทำให้ธนาคารได้รับ 13 รางวัล จาก 12 สถาบันระดับสากลทั่วโลกการันตีและตอกย้ำความเป็นผู้ให้บริการไพรเวทแบงก์ชั้นนำของประเทศไทยในระดับสากล"