ทั้งนี้ ในความตกลง AFTA พบว่ามีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ส่งออกไปอินโดนีเซียสูงสุด ที่มูลค่า 5,477 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมา เป็นมาเลเซีย มูลค่า 5,314 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และตามด้วยเวียดนาม มูลค่า 5,180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ยานยนต์สำหรับขนส่งของ น้ำตาลที่ได้จากอ้อย น้ำมันปิโตรเลียม และน้ำมันจากแร่บิทูมินัส รถยนต์สำหรับขนส่งบุคคลขนาดเล็ก และเครื่องปรับอากาศแบบติดหน้าต่างหรือติดผนัง
นายรณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วน FTA ที่ไทยใช้สิทธิประโยชน์ส่งออกสูงเป็นอันดับ 2 รองลงมา คือ ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) คิดเป็นมูลค่า 18,762 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์เป็น 94.34% ของมูลค่าการส่งออกของสินค้าที่ได้รับสิทธิ โดยสินค้าทุเรียนสด ยังคงเป็นสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์สูงที่สุด
ส่วนอันดับ 3 เป็นความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) คิดเป็นมูลค่า มูลค่า 5,193 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ 76.93% ของมูลค่าการส่งออกของสินค้าที่ได้รับสิทธิ์ โดยสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์สูงที่สุดภายใต้ความตกลงฯ ยังคงเป็นอาหารแปรรูป อาทิ เนื้อไก่และเครื่องในไก่ปรุงแต่ง
ส่วนอันดับ 4 ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) คิดเป็นมูลค่า 4,642 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ 63.04% ของมูลค่าการส่งออกของสินค้าที่ได้รับสิทธิ โดยสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์สูงอย่างต่อเนื่อง คือ รถยนต์ และยานยนต์ที่มีเครื่องดีเซลหรือกึ่งดีเซล
และอันดับ 5 คือ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) คิดเป็นมูลค่า 4,117 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ 69.20% ของมูลค่าการส่งออกของสินค้าที่ได้รับสิทธิ โดยมีลวดทองแดง เป็นสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์สูงที่สุดภายใต้ความตกลงดังกล่าว