นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ตอบกระทู้ถามสดต่อที่ประชุมสภาฯ ถึงการแก้ปัญหาหนี้ให้กับประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาลว่า ในสัปดาห์หน้า จะนำเรื่องการแก้ไขหนี้สินผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กว่า 6 หมื่นราย ที่ช่วงโควิด-19 ถูกปรับเป็นเอ็นพีแอล ในรหัส 21 เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อดำเนินการต่อไป
สำหรับการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาล นายจุลพันธ์ เชื่อมั่นว่า กลไกของรัฐจะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ซึ่งรัฐบาลต้องการแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรม ผ่านกลไกของฝ่ายปกครอง คือ อำเภอ และตำรวจ โดยนัด 2 ฝ่ายเจรจาไกล่เกลี่ยกัน ซึ่งหากตรวจสอบพบว่าชำระหนี้ไว้เกินยอดเงินต้นที่ยืมจากเจ้าหน้านี้ ตามอัตราดอกเบี้ยเป็นธรรม ก็จะเจรจาเพื่อยุติยอดหนี้ทั้งหมดอย่างละมุนละม่อน หากชำระหนี้ที่เหมาะสมแล้ว ต้องยอมความกันไป
อย่างไรก็ดี รัฐบาลยอมรับ และทราบถึงปัญหาที่ประชาชนลังเลจะเข้าร่วมการไกล่เกลี่ยหนี้ เนื่องจากกังวลต่อสวัสดิภาพความเป็นอยู่
"ยอดหนี้ ระดับพันล้านบาทขณะนี้ ต่ำกว่าตัวเลขจริงมาก ซึ่งขณะนี้ ประชาชนกำลังตัดสินใจจะเข้ารับการช่วยเหลือจากศูนย์ของรัฐบาลหรือไม่ การเริ่มทำงาน 10 วัน ประชาชนต้องการได้ความชัดเจน คือการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม และแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งกระบวนการแก้ไขหนี้นอกระบบเคยทำสำเร็จเมื่อปี 2540 สมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ ที่ใช้กลไกภาครัฐ และความมั่นคงร่วมกัน โดยตอนต้นก็มีปัญหาเช่นกัน แต่ระยะหลัง ก็ประสบความสำเร็จ" นายจุลพันธ์ กล่าว
ส่วนกรณีมีเจ้าหนี้ไม่ยอมเข้าร่วมมาตรการของรัฐนั้น รัฐบาลจะพิจารณาตามกฎหมาย ซึ่งต้นเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา เกิดปัญหาที่เจ้าหนี้ไปคุกคามลูกหนี้ ซึ่งขณะนี้รัฐได้ดำเนินการตามกฎหมายเรียบร้อย ดังนั้นตนเชื่อว่ารัฐจะแก้ไขปัญหานี้นอกระบบได้เป็นรูปธรรม เบื้องต้นคือการหยุดการเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยที่เกิดกว่ากฎหมาย
รมช.คลัง กล่าวถึงทางเลือกของการแก้ปัญหาโครงสร้างของหนี้นอกระบบ ผ่านกลไกของพิโกไฟแนนซ์ว่า เป็นสถาบันให้กู้ขนาดเล็ก มีกระทรวงการคลังกำกับดูแล ผ่านกระบวนการลงทะเบียน และมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 5 ล้านบาท ปล่อยสินเชื่อรายละไม่เกิน 50,000 บาท และเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ย 33% ต่อปีกรณีมีหลักประกัน หากไม่มีหลักประกันจะมีอัตราดอกเบี้ย 36% ซึ่งเป็นแนวทางสร้างเครื่องมือกลไกการเงินขนาดเล็ก เพื่อรองรับการปัญหาหนี้นอกระบบ โดยเจ้าหนี้นอกระบบ สามารถผันตัวเองเข้าไปขอใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง เพื่อทำธุรกิจที่ถูกกฎหมาย ขณะเดียวกันประชาชนหรือลูกหนี้ไม่เดือดร้อน เพราะอยู่ในกำกับของรัฐ
"รัฐบาลต้องเดินหน้า หากลไกลดภาระหนี้ และหารายได้เพิ่มเติม เพื่อให้ประชาชนลดภาระค่าครองชีพและหนี้สิน การมีหนี้ไม่ผิดบาป หากประเทศไม่มีกลไกหรือเครื่องมือก่อหนี้ นำหนี้มาประกอบอาชีพ สร้างรายได้ใหม่ ก็จะไม่มีโอกาสเจริญรุดหน้า หรือเติบโตเพียงพอต่อประชากร แต่หนี้นอกระบบ ต้องอยู่ในระดับที่สร้างหนี้และบริหารจัดการตนเองได้" รมช.คลัง ชี้แจง