ธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 67 ที่ 3.2% ลดลงจากก่อนหน้านี้ที่เคยคาดไว้ที่ 3.5% เมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการหดตัวของการส่งออกสินค้าและการลดการใช้จ่ายภาครัฐ และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้มากขึ้นในระดับปานกลางที่ 3.1% ในปี 68
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในปี 67 คาดว่าจะชะลอตัวลงสู่ระดับ 1.1% นื่องจากราคาพลังงานที่ลดลง อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาอาหารจะเพิ่มขึ้น
สำหรับโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่มีการวางแผนไว้ ซึ่งมูลค่าโครงการคิดเป็นประมาณ 2.7% ของ GDP โดยหากมีการดำเนินโครงการ คาดว่าจะสามารถกระตุ้นการเติบโตในระยะสั้นได้เพิ่มขึ้น 0.5-1% ของ GDP ในช่วงระยะระหว่างปี 67-68 แต่จะส่งผลให้การขาดดุลทางการคลังอาจเพิ่มขึ้นเป็น 4-5% ของ GDP ในขณะที่หนี้สาธารณะ อาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 65-66% ของ GDP จาก ณ สิ้นเดือนก.ย. 66 สัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ 62.1% ของ GDP
อย่างไรก็ดี ในปี 66 นี้ ธนาคารโลก คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยไว้ที่ 2.5% ลดลงจากก่อนหน้าที่เคยคาดไว้ 3.4% เมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้น และราคาน้ำมันที่สูง อาจทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากประเทศไทยมีการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานสูง กลายเป็นความเสี่ยงด้านลบต่อแนวโน้มทางเศรษฐกิจ การก้าวไปสู่เส้นทางการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำ จะสามารถช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ลดการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำระดับภูมิภาคในด้านการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน
บทความพิเศษในรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย ยังพบว่า การกำหนดราคาคาร์บอน ไม่ว่าจะผ่านภาษีคาร์บอน หรือระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีความสำคัญอย่างยิ่งในการบรรลุเป้าหมายอันทะเยอทะยานในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเทศไทยอาจใช้การกำหนดราคาคาร์บอนมากขึ้น เพื่อรักษาระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่จะต้องมีมาตรการเพิ่มเติมหรือราคาคาร์บอนที่สูงมาก เพื่อลดการปล่อยก๊าซ ตัวอย่างมาตรการเพิ่มเติม เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานของรถยนต์ไฟฟ้าหรือการฝึกอบรมการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ สามารถเร่งการนำเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำมาใช้ได้
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% ภายในปี 2573 ในขณะที่ประเทศไทยได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2567
"หากประเทศไทยต้องการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน การกำหนดราคาคาร์บอน จะต้องถูกพิจารณาเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายที่สำคัญ" นายฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลก ประจำประเทศไทย ระบุ
นอกจากนี้ มลพิษทางอากาศเป็นปัญหาสำคัญทางเศรษฐกิจ และสาธารณสุขของประเทศไทย การลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และการกำหนดราคาคาร์บอน จะช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศในเมือง ส่งผลให้อัตราการเจ็บป่วยลดลง โดยในปี 2562 ความเสียหายต่อสุขภาพที่มาจากการสัมผัสมลพิษ PM2.5 ทำให้ประเทศไทยเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 6% ของ GDP
รายได้ที่เกิดจากการกำหนดราคาคาร์บอน สามารถนำไปใช้เป็นเงินทุนสนับสนุนนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศอื่นๆ หรือเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายสาธารณะ ตัวอย่างเช่น ราคาคาร์บอน อาจช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้งบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ
ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายหลายประการ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และได้ดำเนินการขั้นแรก เพื่อใช้การกำหนดราคาคาร์บอนอย่างครอบคลุม การซื้อ-ขาย การปล่อยก๊าซภาคสมัครใจ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 นโยบายเหล่านี้แม้จะช่วยจำกัดการเติบโตของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต แต่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีความทะเยอทะยานเชิงนโยบายเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายในปัจจุบัน