นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการค้าและการลงทุนชายแดนและผ่านแดน ครั้งที่ 1/2566 ว่า นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการค้าและการลงทุนชายแดนและผ่านแดน ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดน เป็น 2 ล้านล้านบาท/ปี ในปี 2570
ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงได้มีมติตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อดำเนินการ 4 ชุด เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการทำงานด้านต่างๆ ในการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทย ตลอดจนแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุน ประกอบด้วย
1) คณะอนุกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้า
2) คณะอนุกรรมการยกระดับศักยภาพและการอำนวยความสะดวกของชายแดน และระบบขนส่ง/โลจิสติกส์
3) คณะอนุกรรมการส่งเสริมและใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงและกรอบความร่วมมือต่างๆ
4) คณะอนุกรรมการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ชายแดนและประเทศเพื่อนบ้าน
พร้อมกันนี้ ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการค้าและการลงทุนชายแดนและผ่านแดน ปี 2567-2570 ซึ่งมีความคืบหน้าสำคัญ อาทิ
1. การยกระดับจุดผ่อนปรนเป็นจุดผ่านแดนถาวร 3 แห่ง ได้แก่ 1) จุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร จ.ประจวบคีรีขันธ์ 2) จุดผ่อนปรนการค้าบ้านห้วยต้นนุ่น จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งจะเร่งเจรจากับฝ่ายเมียนมารับรองผลการสำรวจเขตแดนร่วม (Joint Detail Survey: JDS) ของด่านสิงขร และเร่งจัดทำ JDS ของด่านบ้านห้วยต้นนุ่น และ 3) จุดผ่อนปรนการค้าบ้านซับตารี จ.จันทบุรี ซึ่งล่าสุด ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการยกระดับฯ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป แก้ไขข้อจำกัดต่างๆให้เดินหน้าได้
2. การแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการนำเข้าและส่งออกสินค้า โดยเฉพาะด่านพรมแดนแม่สอด แห่งที่ 2 จ.ตาก ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างจุดเอกซเรย์ด้านนอก และแขวงทางหลวงตากที่ 2 (แม่สอด) ได้กำหนดจุดจอดตรวจสอบเอกสาร และตอนนี้ทางด่านได้เริ่มต้นดำเนินการตั้งแต่ 6 โมงเช้าเป็นต้นไป เพื่อบรรเทาความแออัด
3. การออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) ของประเทศเพื่อนบ้าน ได้มีการเอาระบบดิจิทัลมาช่วย แต่ยังมีบางประเทศที่ยังติดขัด โดยได้รับการแก้ไขแล้ว 5 ประเทศได้แก่ กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย ลาว และเมียนมา ส่วนที่เหลือคือฟิลิปปินส์ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไข
4. การขอสนับสนุนงบประมาณปรับปรุงเส้นทาง R12 (นครพนม-คำม่วน-นำเพ้า) ใน สปป.ลาว ซึ่งสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือ NEDA อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เนื่องจากทางเป็นหลุมเป็นบ่อ จึงเสนอปรับปรุงเส้นทาง เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์ในการดำเนินการต่อไป
นายภูมิธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่องจัดตั้งศูนย์บริการค้าชายแดนเบ็ดเสร็จจุดเดียว (One Stop Service: OSS) ใน 8 จังหวัด ภายในเดือนธันวาคม 2566 ได้แก่ เชียงราย ตาก ตราด สงขลา หนองคาย นครพนม มุกดาหาร และอุดรธานี ซึ่งเป็นผลงานร่วมกันของทุกหน่วยงาน ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งคาดว่าจะแถลงความสำเร็จได้ก่อนสิ้นปี ในวันที่ 25 ธ.ค.นี้
"ภาคเอกชนจะเป็นทัพหน้า เป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวม รู้และเข้าใจปัญหาโดยรวม ส่วนรัฐ จะเป็นผู้สนับสนุนคอยแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจการ" รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์กล่าว
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า เรื่อง One Stop Service ภาคเอกชนมีความยินดีและขอบคุณรัฐบาลที่ทำให้ Quick Win เกิดขึ้นแล้วจริงๆ ทั้งเรื่องเวลา และค่าใช้จ่ายที่จะลดลง ลดการรอคอย และสินค้าเกษตรจะได้อานิสงส์อย่างมาก และหวังว่าจะมีการขยายการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องต่อไป
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า มูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน ปี 2566 (เดือนมกราคม-ตุลาคม 2566) มีมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดน 1,451,068 ล้านบาท แบ่งเป็น การส่งออก 825,248 ล้านบาท และการนำเข้า 625,820 ล้านบาท โดยไทยได้ดุลการค้า 199,427 ล้านบาท
ล่าสุดเดือนตุลาคม 2566 มีมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดน 139,695 ล้านบาท แบ่งเป็น การส่งออก 70,042 ล้านบาท และการนำเข้า 69,653 ล้านบาท โดยไทยได้ดุลการค้าในเดือนตุลาคม 2566 ทั้งสิ้น 389 ล้านบาท