นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมเปิดเดินรถไฟทางคู่ สายใต้ ช่วงนครปฐม - ชุมพร ตามนโยบาย Quick Win ของรัฐบาลเพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชน และการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงทุกภูมิภาค ซึ่งในวันนี้ได้เปิดใช้ทางคู่ในช่วงแรกระหว่างสถานีบ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จังหวัดชุมพร รวมระยะทาง 348 กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยลดเวลาในการเดินทาง
โดยตั้งแต่วันนี้ (15 ธ.ค.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ปรับเวลาเดินรถสายใต้ ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารใช้เวลาในการเดินทางน้อยลง และถึงจุดหมายปลายทางเร็วขึ้น ประมาณ 1.30 ชั่วโมง เป็นการอำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชนรวมทั้งการขนส่งสินค้า โดยไม่ต้องเสียเวลาในการรอหลีกขบวนรถ เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเดินรถ ทำให้สามารถรองรับขบวนรถได้เพิ่มขึ้น 2 เท่า ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ รวมทั้งเพิ่มความปลอดภัย ลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางเสมอระดับรถไฟ-รถยนต์ โดยยกเลิกทางข้ามเสมอระดับทางรถไฟ และเปิดใช้สะพานกลับรถ (U-Turn)/สะพานข้ามทางรถไฟ (Overpass)
สำหรับในระยะต่อไป จะเปิดเดินรถทางคู่ช่วงสถานีนครปฐม - สถานีบ้านคูบัว ระยะทาง 57 กิโลเมตร และช่วงสถานีสะพลี - สถานีชุมพร ระยะทาง 15 กิโลเมตร ภายในเดือนเม.ย. 67
นอกจากนี้ รมช.คมนาคม ได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการสำคัญ ดังนี้
- โครงการรถไฟทางคู่สายใต้ ระยะที่ 2 จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย 1) ช่วงชุมพร - สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กิโลเมตร 2) ช่วงสุราษฎร์ธานี - ชุมทางหาดใหญ่ - สงขลา ระยะทาง 321 กิโลเมตร และ 3) ช่วงชุมทางหาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร
ทั้งนี้ ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมโครงการ (Feasibility Study) ออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ความเห็นชอบรายงาน EIA เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบัน รฟท. อยู่ระหว่างเตรียมการเสนอขออนุมัติดำเนินโครงการต่อคณะรัฐมนตรี โดยจะเสนอขออนุมัติช่วงชุมทางหาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์ เป็นลำดับแรก
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการขนส่งทางราง ให้เป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ ที่มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ
- การดำเนินการและแผนการเชื่อมต่อกับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) โดยมีการพัฒนาระบบขนส่งสินค้าเพื่อเชื่อมโยงท่าเรือทั้งสองแห่งด้วยทางรถไฟและทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) เพื่อให้สอดคล้องตามแผนบูรณาการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเชื่อมต่อแนวเส้นทางรถไฟทางคู่
สำหรับโครงการก่อสร้างทางรถไฟช่วงชุมพร - ท่าเรือน้ำลึกระนอง อยู่ระหว่างศึกษาโครงการและผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่บริเวณแหลมริ่ว ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน ผ่าน อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร และมีจุดสิ้นสุดที่บริเวณแหลมอ่าวอ่าง ต.ราชกรูด อ.เมืองระนอง จ.ระนอง ซึ่งโครงการฯ จะเพิ่มขีดความสามารถด้านการขนส่งสินค้า ผู้โดยสาร เพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของประเทศ เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพต่อการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงฐานการผลิตในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กับประตูการค้าภาคใต้ เพื่อส่งต่อสินค้าไปยังกลุ่มประเทศ ตะวันออกกลาง ยุโรป
- การพัฒนาทางรถไฟเชื่อมนิคมอุตสาหกรรม โดยการก่อสร้างย่านสถานีบริเวณจุดเชื่อมต่อประแจและทางแยกสถานีนาผักขวง โครงการ SSI?s Distribution Hub (ด้านเหนือ) และโครงการ SSI?s Logistic Terminal (ด้านใต้) ประเภททางเดี่ยว ระยะทาง 2.138 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมโยงระบบการขนส่งทางรางสู่อุตสาหกรรมเหล็ก และท่าเรือน้ำลึก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้า และช่วยลดต้นทุนในการขนส่งสินค้า ทั้งอุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมอื่น ๆ และช่วยลดปัญหาการจราจรการขนส่งทางบกในพื้นที่ โดยเป็นหนึ่งในแผนงานการพัฒนาทางรถไฟเชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรม ระยะเร่งด่วน (พ.ศ. 2566 - 2570) ซึ่งกรมการขนส่งทางรางได้ดำเนินโครงการศึกษาความเป็นไปได้และจัดทำแผนการพัฒนาโครงข่ายรถไฟ ให้ครอบคลุม และเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศและรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ (R-MAP) ปัจจุบันการพัฒนาทางรถไฟเชื่อมนิคมเขตอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างเอกชนพิจารณาศึกษาความเหมาะสมก่อนดำเนินการต่อไป
กระทรวงคมนาคมเร่งพัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟทุกโครงการให้แล้วเสร็จและเปิดให้บริการทันตามแผนที่กำหนด เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางแก่ประชาชน ตลอดจนช่วยลดต้นทุนการขนส่งเพิ่มประสิทธิภาพโลจิสติกส์ รวมทั้งกระจายการเติบโตทางเศรษฐกิจไปยังภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ชาติของประเทศ สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรางของภูมิภาคอาเซียน