นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ยืนยันโครงการดิจิทัลวอลเลต 1 หมื่นบาท ยังคงอยู่ในกรอบระยะเวลาเดิมที่วางไว้ คือ ช่วงเดือนพ.ค. 67 ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา จะส่งคำตอบกลับมาในช่วงต้นปี 67 ว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ทั้งนี้ รัฐบาลไม่ได้เร่งรัดกระบวนการ เพราะต้องการให้คณะกรรมการกฤษฏีกา ได้พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ
"แม้คณะกรรมการกฤษฎีกา จะส่งคำตอบมาในช่วงต้นปี ก็ไม่ทำให้ให้โครงการดิจิตทัลวอลเลตล่าช้าออกไปกว่ากรอบระยะเวลาที่วางไว้ช่วงเดือนพ.ค.67 ซึ่งกระบวนการนี้ เราไม่ได้เร่งรัด เพราะต้องให้กฤษฏีกาพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ" รมช.คลัง ระบุ
ล่าสุดเรื่องนี้เตรียมจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 12 ซึ่งจะมีการประชุมอย่างน้อย 2 ครั้ง คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจากนั้น ในช่วงต้นเดือน ม.ค.67 กฤษฎีกาจะส่งคำตอบกลับมาที่กระทรวงการคลังว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่
"หลังจากกฤษฎีกาส่งคำตอบกลับมาแล้ว ก็ต้องมาดูในรายละเอียดของคำตอบก่อนว่ามีอะไรบ้าง โดยคำถามที่ส่งไป คือ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งหากคำตอบว่าชอบด้วยกฎหมาย ขั้นตอนของการยกร่าง พ.ร.บ. จะไม่นาน ใช้เวลาสั้น ๆ และส่งไปให้กฤษฎีกาตรวจร่าง และทำองค์ประกอบอื่น ๆ ให้ครบถ้วนตามที่กฤษฎีกา หรือใครก็ตามที่มีการตั้งข้อสังเกตมา เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังจากนั้น ส่งเรื่องกลับมาเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเข้าสู่สภา ซึ่งหากกระบวนการเป็นไปตามนี้ ยังเชื่อมั่นว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท จะเดินหน้าได้ตามกรอบเดิมคือ ช่วง พ.ค. 67" นายจุลพันธ์ กล่าว
รมช.คลัง มั่นใจว่า พ.ร.บ.กู้เงินฯ นี้ จะผ่านชั้นกฤษฎีกาไปได้ มั่นใจว่าโครงการนี้จะต้องเกิดและเดินหน้าต่อไปได้แน่นอน ซึ่งกระบวนการหลังจากกฤษฎีกาตอบกลับมาแล้ว ก็จะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะวิเคราะห์ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันมีสภาวะเข้ากับองค์ประกอบหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องวิกฤต หรือไม่วิกฤต โดยหากรัฐบาลวิเคราะห์แล้วว่าเข้าองค์ประกอบ ก็เดินหน้าโครงการต่อทันที ส่วนจะมีใครตรวจสอบในสิ่งที่รัฐบาลวิเคราะห์ หรือที่รัฐบาลสินใจก็เป็นไปตามอำนาจหน้าที่
สำหรับความเห็นเรื่องเศรษฐกิจไทยวิกฤต หรือไม่วิกฤตนั้น กระทรวงการคลังไม่ได้ส่งคำถามไปที่กฤษฎีกา เพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของกฤษฎีกา และเชื่อว่ากฤษฎีกาก็คงจะไม่ตอบ เพราะกฤษฎีกามีหน้าที่วินิจฉัยเฉพาะเรื่องของกฎหมายเท่านั้น ส่วนหลังจากนี้ หากมีหน่วยงานใดสอบถามเข้ามาถึงเรื่องเศรษฐกิจวิกฤตหรือไม่ เพื่อไปประกอบความเห็นใด ๆ นั้น กระทรวงการคลังก็พร้อมทำข้อมูลส่งไปตามความเป็นจริง
"รัฐบาลยืนยันว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ไม่ดี ทุกคนเห็นตรงกันจากตัวเลขเศรษฐกิจ ที่สภาพัฒน์ รายงานที่ประชุม ครม. ที่ GDP มาส 3/66 ขยายตัวแค่ 1.5% สะท้อนชัดเจนว่าสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันเป็นอย่างไร" รมช.คลัง กล่าว
ส่วนเรื่องที่มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องหนี้สาธารณะจะเพิ่มสูงขึ้นจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทนั้น รัฐบาลขอชี้แจงว่า หนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่หนี้จะเกิดขึ้นหลังจากมีการขึ้นเงินจากโครงการ มีกระบวนการกระตุ้นเศรษฐกิจให้หมุนเวียน ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจจะมีการเติบโตขึ้น เมื่อเศรษฐกิจโตขึ้นก็จะไปลดภาระของหนี้สาธารณะต่อ GDP ให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
"รัฐบาลไม่ได้ห่วงประเด็นหนี้สาธารณะมากนัก เพราะอยู่ในกรอบที่บริหารจัดการได้ และอยู่ภายใต้กรอบ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง ซึ่งปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ราว 62% ต่อ GDP ถ้าเราคง GDP ให้โตเฉลี่ยที่ 5% และเมื่อรวมกับการขาดดุลงบประมาณประจำปีแล้ว หนี้สาธารณะจะลงไปอยู่ที่ระดับ 60% ต่อ GDP ได้ไม่ยากนัก ภายในระยะเวลา 4 ปีของรัฐบาล โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐ ที่จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ" รมช.คลัง กล่าว