นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย "พฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 67" ว่า แผนการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงปีใหม่ 67 (วันที่ 29 ธ.ค. 66-1 ม.ค. 67) อยู่ที่ 105,924.21 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 2.8%YoY) หรือสูงสุดในรอบ 4 ปี โดยกลุ่มตัวอย่างมองว่า บรรยากาศในช่วงเทศกาลปีใหม่ 67 จะคึกคัก คนใช้จ่ายมากกว่าปีที่แล้ว แต่ยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย
สำหรับแผนการใช้จ่ายในช่วงปีใหม่ 67 จำนวน 105,924.21 ล้านบาท แบ่งเป็น
1. กิจกรรมอื่นๆ ได้แก่ เลี้ยงสังสรรค์ 12,543.02 ล้านบาท, ทำบุญ 9,109.48 ล้านบาท, อุปโภคบริโภค 19,418.56 ล้านบาท, สินค้าคงทน 4,951.96 ล้านบาท และสินค้าฟุ่มเฟือย 1,723.97 ล้านบาท
2. ไปเที่ยว ได้แก่ ในประเทศ 54,074.31 ล้านบาท และต่างประเทศ 4,104.56 ล้านบาท
ทั้งนี้ การใช้จ่ายเงินเพื่อการท่องเที่ยวในปี 67 สำหรับการท่องเที่ยวในประเทศอยู่ที่ 6,023.83 บาท/คน ลดลงจากปี 66 ที่ 10,262.07 บาท/คน ส่วนการท่องเที่ยวต่างประเทศ อยู่ที่ 35,573.53 บาท/คน เพิ่มขึ้นจากปี 66 ที่ 27,168.75 บาท/คน
"ปีใหม่ปีนี้ หมวดที่มีการใช้จ่ายมากที่สุด คือ การท่องเที่ยว แต่คนยังลังเลการใช้เงินในการท่องเที่ยวในประเทศ จะเน้นเรื่องการเดินทางกลับบ้าน หรือเที่ยวในจังหวัดใกล้ๆ แต่การไปท่องเที่ยวต่างประเทศ กลุ่มตัวอย่างจะใช้เงินมากขึ้นกว่าปีก่อน รองลงมาคือ หมวดการซื้อของขวัญ และจัดเลี้ยง สังสรรค์ และรองลงมา คือ หมวดไหว้พระทำบุญในช่วงปีใหม่ ตามลำดับ ซึ่งในหมวด 2 และ 3 นั้นมีการใช้จ่ายมากขึ้น" นายธนวรรธน์ กล่าว
*ประชาชนมองเศรษฐกิจปี 67 ดีกว่าปีนี้ แต่โตต่ำกว่า 3%
สำหรับประเด็นเรื่องการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 66 ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ 92.1% มองว่า เศรษฐกิจโตต่ำกว่า 2.50% แสดงให้เห็นว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยไม่สดใส และยังไม่มีภาพของการฟื้นตัวได้ชัดเจน ขณะที่ปี 67 ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ 88.0% มองว่า เศรษฐกิจจะโตต่ำกว่า 3% ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยโตมากกว่า 3%
"ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน แม้การส่งออกจะเริ่มกลับมาบวก การท่องเที่ยวดีขึ้นกว่าที่ผ่านมามากพอสมควร เพราะนักท่องเที่ยวเพิ่มถึง 27-28 ล้านคน เทียบกับปีก่อนที่ 10 ล้านคน แต่ยังไม่สามารถพลิกบรรยากาศเศรษฐกิจให้โดดเด่นได้ และประชาชนมองว่าเศรษฐกกิจปีหน้าดีกว่าปีนี้เล็กน้อย แต่ยังโตต่ำกว่า 3% ขณะที่ภาควิชาการมองโต 3.1-3.3% และรัฐบาลเชื่อว่าโตเกิน 4% จากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต แต่วันนี้ประชาชนยังไม่เชื่อแบบนั้น ดังนั้น ภาวะเศรษฐกิจจะมีบรรยากาศของการค่อยๆ จับจ่ายใช้สอยไปเรื่อยๆ ซึ่งจะมีการประเมินอีกครั้งในช่วงวันเด็ก และตรุษจีน" นายธนวรรธน์ กล่าว
สำหรับสิ่งที่ประชาชนอยากให้รัฐบาลดำเนินการในปี 67 อันดับ 1 คือ ดูแลการมีงานทำ/ สร้างงาน สร้างรายได้ รองลงมา คือการเข้าถึงแหล่งเงินทุน/ เงินกู้, แก้ไขปัญหายาเสพติด, ดูแลค่าครองชีพให้เหมาะสม, ปัญหาหนี้ครัวเรือน และแก้ไขปัญหาความยากจน ตามลำดับ
ในส่วนของความสำเร็จของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา จาก 10 คะแนนเต็ม กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนนโยบายลดค่าครองชีพ เช่น ค่าไฟ และน้ำมัน ด้วยคะแนนเฉลี่ยสูงสุด 7.41 คะแนน ส่วนนโยบายฟรีวีซ่า นโยบายแก้หนี้ผู้ประกอบการ SME และนโยบายแก้หนี้เกษตรกร มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 5 คะแนน หรือยังไม่โดดเด่น
วานนี้ (21 ธ.ค. 66) คณะกรรมการค่าจ้างมีมติเห็นชอบปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 67 ตามมติเดิมเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 66 ซึ่งต้องติดตามว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีมติเห็นชอบและอนุมัติให้ใช้ในอัตรานั้นหรือไม่ หรือจะมีการยับยั้งแทรกแซงในรูปแบบไหนหรือไม่ ถือเป็นประเด็นสำคัญ
อย่างไรก็ดี ทางฝั่งลูกจ้าง มองว่า การปรับค่าจ้างเหมาะสมแล้ว และเป็นจุดที่ลูกจ้างรับได้ และสอดคล้องกับการจ่ายของนายจ้าง ขณะที่กระทรวงแรงงาน โดยไตรภาคี ระบุว่า นี่คือมติที่ออกมาจากมาตรฐานการคำนวณจากระดับจังหวัด และระดับประเทศ และค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น 2-3% สอดคล้องกับภาวะเงินเฟ้อที่ขยายตัวเพียงแค่ 1-3% ในปีนี้ และมีประเด็นเรื่องค่าจ้างที่เป็นไปตามกรอบทักษะ ถ้าแรงงานทักษะสูงขึ้น ก็จะได้รับการปรับค่าจ้างสูงขึ้น ซึ่งเป็นกลไกที่ทำให้ลูกจ้างที่ไม่มีทักษะ ต้องพยายามฝึกทักษะเพื่อให้ค่าแรงสูงขึ้น
ในการประชุมคณะกรรมการหอการค้าไทย ได้มีการหยิบยกประเด็นเรื่องกรณีกลุ่มฮูตีที่โจมตีเรือสินค้าในทะเลแดง (Red Sea) โดยมองว่า ยังไม่มีข้อกังวลรุนแรง แต่มีความห่วงใยว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อมากน้อยแค่ไหน แต่ไม่มีการพูดถึงตัวเลขส่งออกที่จะได้รับผลกระทบ
"บริษัทเดินเรือ หลีกเลี่ยงเส้นทางเดินเรือที่อาจมีการโจมตี จึงต้องใช้เวลาเพิ่ม 1 เดือน ภาระตกที่บริษัทเดินเรือ และจะไปเรียกเก็บกับลูกค้า และอาจต้องไปทำประกัน สังเกตว่า ต้นทุนการใช้น้ำมันสูงขึ้น และมีต้นทุนประกัน ดังนั้น ต้นทุนการขนส่ง ค่าระวางเรือจะแพงขึ้นแน่นอน ในเรื่องการขนส่งสามารถหลบเลี่ยงเส้นทางได้ และยังไม่มีการประเมินว่าสินค้าจะถึงที่หมายล่าช้าไป 30 วัน จุดสั่งซื้อเกิน 30 วันหรือไม่ สต็อกพอหรือไม่ ดังนั้น สต็อกเก่ายังไม่ดันเงินเฟ้อ ส่วนสต็อกใหม่อาจมีค่าโสหุ้ยที่แพงขึ้นบ้าง แต่ต้องดูที่กองกำลังนานาชาติ หรือประเทศต่างๆ พยายามคุ้มกันบริษัทเดินเรือ จะจบภายใน 2 สัปดาห์หรือ 1 เดือนหรือไม่" นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ มองว่า เหตุการณ์นี้มีผลกระทบแค่ในระยะสั้น ยังไม่ทำให้สินค้าขาดแคลนทั่วโลก และอาจทำให้ต้นทุนการขนส่งแพงขึ้นอย่างน้อย 10-20% ซึ่งอาจทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น 5-10% แต่เป็นในกรณีที่มีการโจมตีในระยะเวลาที่ยาวนานกว่านี้ ส่วนตอนนี้ยังไม่กระทบต่อเงินเฟ้อ และไม่กระทบต่อการขาดแคลนสินค้า รวมทั้งน้ำมัน ซึ่งยังนิ่งอยู่ที่ประมาณ 80 ดอลลาร์/บาร์เรล
สำหรับการส่งออกสินค้าของไทย ส่วนใหญ่จะออกทางท่าเรือแหลมฉบัง และการขนส่งไปยังตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ จีน อาเซียน และญี่ปุ่น ดังนั้น ไม่มีเส้นทางผ่านทะเลแดงมากนัก ผลกระทบเรื่องการส่งออกของไทยในการขนส่งทางเรือ จึงไม่กระทบมาก ส่วนต้นทุนการผลิต และค่าระวางเรือ อาจมีผลกระทบบ้าง
"ตอนนี้เหตุการณ์เพิ่งผ่านไป 4-5 วัน จึงเร็วเกินไปที่จะสรุปว่ายืดเยื้อ มองว่าภายใน 2 สัปดาห์ น่าจะเห็นภาพของการจัดการ โดยกลุ่มฮูตี บอกว่า ตราบใดที่อิสราเอลยังทำการรุนแรงกับปาเลสไตน์ ดังนั้น มีเงื่อนไข อาจเป็นแรงกดดันเรียกร้องให้ทำการเจรจาทางการทูต มากกว่าการใช้กองกำลังทหารในแถบปาเลสไตน์ มีการประนีประนอมกันมากขึ้น มองว่า 2 สัปดาห์ควรคลี่คลาย ถ้ายืดเยื้อก็ไม่ควรเกิน 1 เดือน มองว่าหลังจากนี้ 1 เดือน ค่อยมาประเมินผลกระทบ" นายธนวรรธน์ กล่าว