นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ที่กองทัพฮูติของเยเมน โจมตีเรือขนส่งสินค้าต่างชาติในทะเลแดง ที่มุ่งสู่ท่าเรือของประเทศอิสราเอล และเดินเรือผ่านช่องแคบ Bab al-Mandab ที่เชื่อมต่อระหว่างทะเลแดงกับทะเลเอเดนนั้น จึงได้เรียกประชุมทูตพาณิชย์ไทยในตะวันออกกลาง และยุโรป พร้อมด้วยภาคเอกชนผู้ส่งออก เพื่อติดตามสถานการณ์และร่วมกันประเมินผลกระทบที่อาจจะมีต่อการส่งออกของสินค้าไทย
ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ไทยที่ประจำหลายประเทศ เช่น ในซาอุดิอาระเบีย, อียิปต์, เยอรมนี และอิตาลี รวมถึงภาคเอกชน ต่างเห็นตรงกันว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่ายืดเยื้อ เพราะประเทศใหญ่ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ พยายามแก้ไขปัญหา ซึ่งหากจบเร็ว จะไม่กระทบการส่งออกไทยโดยรวมในปี 66 แน่นอน
แต่ในระยะสั้น ขณะนี้ค่าระวางเรือได้ปรับขึ้นไปแล้ว และการเดินเรือขนส่งสินค้าจะต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางใหม่ โดยยกเลิกการเดินเรือผ่านคลองสุเอซและทะเลแดง ไปอ้อมแหลมกู๊ดโฮป ทวีปแอฟริกา อีกทั้งสายเดินเรือยังประกาศยกเลิกการรับบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ไปยังท่าเรือ Sokhna และท่าเรือ Jeddah รวมถึงท่าเรือในทะเลแดงเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันความเสี่ยงภัยต่อเรือและลูกเรือ ส่งผลให้ระยะเวลาการเดินเรือในเส้นทางระหว่างเอเชียและยุโรป เพิ่มขึ้น 10-15 วัน
นอกจากนี้ ยังคาดว่าสายเรือ จะเพิ่มจำนวนเรือเข้ามาให้บริการเพิ่มเติมในเส้นทาง เพื่อรักษาความถี่ในการเดินเรือไม่ให้น้อยลงจากเดิม ซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้ค่าระวางการขนส่งสินค้าในเส้นทางระหว่างตะวันออกไกล-ตะวันออกกลาง-เมดิเตอร์เรเนียน-ยุโรป มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน
"หวังว่า เหตุการณ์จะไม่ยืดเยื้อ และไม่กระทบต่อการส่งออก และผู้ส่งออกไทยมากนัก มีแค่ผลกระทบให้ระยะเวลาขนส่งนานขึ้น และค่าระวางเรือที่เพิ่มขึ้น แต่สัปดาห์หน้า กระทรวงพาณิชย์ จะเชิญสายเดินเรือมาหารือ หากเหตุการณ์ยืดเยื้อ และจะต้องขึ้นค่าระวางเรือเพิ่ม ก็ขอให้ขึ้นอย่างไม่ฉวยโอกาส หรือขึ้นราคาเกินจริง ซึ่งกระทรวงจะใช้มาตรการบริหารจัดการก่อน ยังไม่ใช่กฎหมายเข้ามาดูแล" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุ
ขณะเดียวกัน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) รับจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ส่งออกไทย เพราะหากการขนส่งสินค้าล่าช้า จะทำให้ต้นทุนต่างๆ ของผู้ส่งออกเพิ่มขึ้น และอาจขาดกระแสเงินสดได้
ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ในช่วง 1 สัปดาห์ที่มีการโจมตีเรือขนส่งสินค้า สายเดินเรือได้ปรับขึ้นค่าธรรมเนียม และค่าระวางเรือแล้วกว่าเท่าตัว จากเดิม 1,000-1,500 เหรียญสหรัฐฯ/ตู้คอนเทนเนอร์ 20 ฟุต มาอยู่ที่ 3,000-4,000 เหรียญฯ ซึ่งถือเป็นภาระของผู้ส่งออก เพราะในการขายสินค้าได้คิดค่าใช้จ่ายต่างๆ ไว้แล้ว แต่พอเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ทำให้ผู้ส่งออกต้องรับภาระส่วนนี้ไว้เอง
"ผู้ส่งออกคงต้องเร่งหารือกับสายเดินเรือในเรื่องของค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะถูกเรียกเก็บเพิ่มกรณีที่สินค้าอยู่ระหว่างการขนส่งก่อนการโจมตี เพื่อหาจุดสมดุล รวมถึงเรื่อง free time ในการขนส่งสินค้าที่ท่าเรือ จากระยะเวลาขนส่งที่เพิ่มขึ้น และการหมุนเวียนของตู้คอนเทนเนอร์ ที่จะต้องมีเพียงพอ แต่คาดว่าเหตุการณ์นี้ ถ้าจบเร็ว จะไม่กระทบการส่งออกของไทยในปี 66 แต่ถ้ายืดเยื้อเกินสัปดาห์หน้า ก็อาจกระทบการส่งออกเดือนม.ค.67 ได้" ประธาน สรท.กล่าว