ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินมูลค่าตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุ ปี 67 คาดว่าไม่ต่ำกว่า 34,000 ล้านบาท ขยายตัวราว 6%YoY ซึ่งตัวเลขดังกล่าวให้ภาพการเติบโตแบบระมัดระวัง โดยเป็นผลจากการขยายตัวของฐานประชากรกลุ่มผู้สูงอายุที่มีศักยภาพเป็นหลัก
สำหรับตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท หลักคือ
1. อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุทั่วไป คิดเป็นสัดส่วน 92% ของมูลค่าตลาดอาหารเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุ ซึ่งเหมาะต่อการเจาะตลาดในระยะแรก เพราะเข้าถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความเต็มใจจ่าย และต้องการอาหารที่เข้ามาช่วยส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ไม่ยาก อาทิ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาหารออร์แกนิก อาหารที่ปรับปริมาณสารอาหารให้เหมาะสมกับวัยกับโรค (ไขมัน น้ำตาล โซเดียมต่ำ) โดยเน้นชูคุณภาพวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุ ภายใต้ราคาที่เข้าถึงง่าย
2. อาหารทางการแพทย์สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง แม้จะมีสัดส่วนในตลาดเพียง 8% แต่มีแนวโน้มเติบโตจากจำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงที่จะเพิ่มขึ้นจาก 4.1 แสนคนในปี 64 คาดเพิ่มเป็นเท่าตัวที่ 8.3 แสนคน ภายในปี 80 กลุ่มนี้ต้องการอาหารที่เฉพาะเจาะจง เหมาะสมกับโรค สภาพร่างกายและการรักษา ซึ่งโอกาสอาจอยู่ที่การร่วมมือกับสถานพยาบาล ในการผลิตหรือหาช่องทางจำหน่ายร่วมกันโดยกลุ่มอาหาร
ในระยะข้างหน้า ตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุ ยังเติบโตได้แบบค่อยเป็นค่อยไป ตามการเพิ่มขึ้นประชากรผู้สูงอายุไทย ซึ่งหากผู้ประกอบการมีการขยายการลงทุน และรุกตลาดมากขึ้น จนทำให้มีสินค้าหลากหลาย และทำราคาให้เข้าถึงได้ง่าย ก็ยังมีโอกาสขยายฐานลูกค้าผู้สูงอายุไปยังกลุ่มอื่นๆ เช่น ผู้สูงอายุในต่างจังหวัด รวมถึงโอกาสในการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศที่มีจำนวนผู้สูงอายุมาก เช่น ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป เป็นต้น