พาณิชย์ เผยส่งออก พ.ย.66 บวกต่อ 4.9% ส่งผล 11 เดือนติดลบเหลือ 1.5% ตลาดจีนพลิกหดตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 25, 2023 10:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พาณิชย์ เผยส่งออก พ.ย.66 บวกต่อ 4.9% ส่งผล 11 เดือนติดลบเหลือ 1.5% ตลาดจีนพลิกหดตัว

กระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศในเดือน พ.ย.66 การส่งออกมีมูลค่า 23,479.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.9% จากที่ตลาดคาดว่าจะเติบโตราว 5% ส่งผลให้ตัวเลข 11 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ย.) ของปี 66 การส่งออกมีมูลค่า 261,770.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ตัวเลขเฉลี่ยหดตัวลดลงเหลือ 1.5% และมั่นใจว่าทั้งปีจะติดลบน้อยลงอีก

ขณะที่การนำเข้าในเดือน พ.ย.66 มีมูลค่า 25,879.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึง 10.1% หลัก ๆ จากการมูลค่าการนำเข้าน้ำมันและการนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้น ส่วน 11 เดือนแรก มีมูลค่านำเข้า 267,935.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 3.8%

ในเดือน พ.ย.66 ไทยยังขาดดุลการค้า 2,399.4 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 11 เดือนแรกของปี ขาดดุลการค้า 6,165.3 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า หากเทียบการส่งออกเดือนพ.ย.66 ของไทยกับประเทศไทยภูมิภาคแล้ว จะเห็นได้ว่าการส่งออกของไทยติดลบน้อยกว่าประเทศอื่นๆ

"เศรษฐกิจโลกเริ่มกลับมาดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ยอดส่งออก 11 เดือนของไทย ก็ติดลบต่ำสุดในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกในภูมิภาคเดียวกัน ต้องรอดูเดือน ธ.ค.ว่าการส่งออกจะเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าทั้งปี 66 การส่งออกจะติดลบไม่เกิน 1.5%" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

หากแยกพิจารณาเป็นรายกลุ่มสินค้า การส่งออกในทุกกลุ่มสินค้าสามารถขยายตัวได้ดี โดยสินค้าเกษตร มีมูลค่าการส่งออก 2,128 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 7.7% เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยสินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ดี เช่น กุ้งต้มสุกแช่เย็น, ข้าว, ผักสด แช่เย็น-แช่แข็ง และแห้ง, ยางพารา

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่าการส่งออก 1,775 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 1.7% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัวได้ดี เช่น สิ่งปรุงรสอาหาร, ผักกระป๋องและแปรรูป, ผลไม้กระป๋องและแปรรูป, อาหารสัตว์เลี้ยง และอาหารทะเลกระป๋อง-แปรรูป

ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่าการส่งออก 18,552 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.4% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ดี เช่น เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์, อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด, หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ, เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ

*ตลาดจีนพลิกหดตัวครั้งแรกในรอบ 4 เดือนหลังหมดหน้าผลไม้

สำหรับตลาดส่งออกของไทยที่มูลค่าขยายตัวสูงสุด 10 อันดับแรกในเดือน พ.ย.นี้ ได้แก่ อันดับ 1 กลุ่ม CIS ขยายตัว 88.4% อันดับ 2 สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัว 77.9% อันดับ 3 สหรัฐ ขยายตัว 17.5% อันดับ 4 อาเซียน (5) ขยายตัว 12.9% อันดับ 5 ฮ่องกง ขยายตัว 12.8% อันดับ 6 แคนาดา ขยายตัว 12.3% อันดับ 7 ออสเตรเลีย ขยายตัว 10.9% อันดับ 8 เกาหลีใต้ ขยายตัว 7.2% อันดับ 9 ไต้หวัน ขยายตัว 6.8% และอันดับ 10 เอเชียใต้ ขยายตัว 5%

ส่วนกรณีที่การส่งออกไปตลาดจีน กลับมาหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนนั้น ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงว่า เป็นเพราะสิ้นสุดช่วงฤดูกาลส่งออกผลไม้ของไทย ซึ่งที่ผ่านมาการส่งออกผลไม้ไทยไปตลาดจีนมีมูลค่าหลายล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อจบฤดูกาลส่งออกจึงทำให้มูลค่าการส่งออกโดยรวมไปตลาดจีนลดลง

ขณะที่นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพิจารณามูลค่าการส่งออกไทยไปตลาดจีนในเดือนพ.ย. ก็ใกล้เคียงกับเดือนต.ค. ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (PMI) ของจีนในปัจจุบันยังรักษาระดับไว้ได้ดี และมีแนวโน้มที่จีนจะต้องเร่งการผลิตในเดือนม.ค. เนื่องจากเดือนก.พ.จะเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวลว่าการส่งออกไทยไปจีนจะหดตัวต่อเนื่อง เพราะขณะนี้ภาคการผลิตของจีนเริ่มฟื้นตัวแล้ว

นายกีรติ กล่าวด้วยว่า ปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้การส่งออกของไทยยังสามารถขยายตัวได้ คือ 1.ปริมาณการส่งออกข้าวของไทยที่ยังเติบโตได้ในอัตราสูง และคาดว่าปีนี้การส่งออกข้าวจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 8 ล้านตัน 2.เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญหลายประเทศ มีแนวโน้มดีกว่าที่คาด นอกจากนี้ ยังมาจากการผลักดันการส่งออกร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ และการส่งเสริมการขยายตลาดแฟรนไชส์ร้านกาแฟไทยในญี่ปุ่น

อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยยังมีปัจจัยท้าทายที่สำคัญ คือ การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงของธนาคากลางต่างๆ ที่อาจส่งผลให้การลงทุนใหม่ๆ ยังคงชะลอตัว และสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ภาวะภัยแล้งจากเอลนีโญ อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรบางรายการ

* ทั้งปี 66 คาดส่งออกหดตัวไม่เกิน 1.5% ส่วนปี 67 ลุ้นพลิกฟื้นบวก 2%

นายกีรติ ยอมรับว่า การส่งออกไทยในปีนี้คงเป็นบวกได้ยาก แต่เชื่อว่าจะติดลบไม่มากไปกว่า 1.5% ซึ่งหากประเมินตัวเลขการส่งออกเดือน ธ.ค. ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายที่เหลือของปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ราว 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ใกล้เคียงกับเดือน ธ.ค.65 ซึ่งหากตัวเลขจริงออกมาเท่านี้ การส่งออกของไทยทั้งปี 66 ก็อาจจะติดลบไม่เกิน 1%

อย่างไรก็ดี หากจะให้การส่งออกไทยปีนี้ไม่ติดลบเลยหรืออยู่ที่ 0% นั้น มูลค่าการส่งออกในเดือนธ.ค.66 จะต้องทำให้ได้ถึง 25,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขสูงมาก เพราะตัวเลขส่งออกเดือนธ.ค.เฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง จะอยู่ที่ราว 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงเป้าหมายการส่งออกในปี 67 ว่า คงต้องรอดูการส่งออกในช่วงเดือนธ.ค.ที่เป็นทางการก่อนว่าจะออกมาเท่าใด ก่อนจะประเมินภาพรวมและแนวโน้มสำหรับปีหน้า ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เคยคาดไว้ว่าจะเห็นการส่งออกปีหน้า เติบโตได้ราว 2% จากปีนี้

อย่างไรก็ดี ปีหน้าการส่งออกไทยจะดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากเงินเฟ้อชะลอลงกลับสู่เป้าหมาย วัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะยุติลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว พร้อมกับความเชื่อมั่นในการบริโภคและการลงทุนที่กลับมา

"เมื่อได้ตัวเลขส่งออกของปีนี้ ครบทั้ง 12 เดือนแล้ว จึงจะค่อยมากำหนดเป้าปีหน้าว่าควรเป็นเท่าไร ซึ่งจะต้องพิจารณาจากปัจจัยทั้งใน และต่างประเทศควบคู่กันด้วย เดิมเราคาดไว้ที่ 2% ต้องขอหารือกับภาคเอกชนก่อน" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ