ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ชี้วัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้าสู่ช่วงขาขึ้น จะช่วยสนับสนุนการส่งออกไทยปี 67 ให้กลับมาขยายตัวได้ แต่ยังต้องจับตาความเสี่ยงต่อการส่งออก กรณีกลุ่มกบฏฮูตีโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดง
Krungthai COMPASS มีมุมมองต่อการส่งออกไทยในระยะข้างหน้าว่า วัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่กำลังฟื้นตัว จะช่วยสนับสนุนการส่งออกไทยให้กลับมาขยายตัวได้ในปี 2567 ทั้งนี้ จากความต้องการสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ของโลก มีสัญญาณที่ปรับดีขึ้น โดยยอดคำสั่งซื้อเซมิคอนดักเตอร์ของโลก กลับมาขยายตัวในเดือน ต.ค.66 ที่ 4.9%YoY นับเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 16 เดือน
ขณะเดียวกัน มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามความต้องการอุปกรณ์ไอทีและสมาร์ทโฟนที่มีมากขึ้น รวมถึงกระแส AI สะท้อนถึงวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ของโลกได้ผ่านจุดต่ำสุดและอยู่ในช่วงฟื้นตัว ยอดคำสั่งซื้อเซมิคอนดักเตอร์ของโลกดีขึ้นสอดคล้องกับการส่งออกเดือน พ.ย.ของเกาหลีใต้ (+7.7%YoY) ไต้หวัน (+3.8%YoY) และจีน (+0.5%YoY) ที่กลับมาขยายตัวส่วนหนึ่งจากการส่งออกสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ฟื้นตัว
สำหรับการส่งออกหมวดอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ปรับดีขึ้นในเดือน พ.ย. ส่วนหนึ่งจากการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวได้ 10.3% เป็นการกลับมาขยายตัวได้ในรอบ 14 เดือน
"Krungthai COMPASS ประเมินว่าวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ของโลกที่เข้าสู่ช่วงขาขึ้น จะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ของไทย และหนุนการส่งออกให้กลับมาขยายตัวได้ในปี 67" บทวิเคราะห์ระบุ
อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในทะเลแดง เพิ่มความเสี่ยงต่อการส่งออกในระยะข้างหน้า กลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนได้โจมตีเรือสินค้าที่เดินทางผ่านทะเลแดง ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน พ.ย.66 และมีความรุนแรงมากขึ้นต่อเนื่อง
โดยส่งผลให้บริษัทขนส่งรายใหญ่ของโลกหลายแห่ง ระงับการเดินเรือผ่านช่องแคบบับเอลมันเดบในทะเลแดง ตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค.66 ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างทวีปยุโรป กับเอเชีย ทำให้บริษัทขนส่งต้องเดินเรืออ้อมไปยังแหลมกู๊ดโฮป ที่ใช้ระยะเวลาการเดินทางนานขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนค่าขนส่งปรับเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ หากสถานการณ์ยืดเยื้อ คาดว่าจะกระทบต่อการส่งออกของไปยังตลาดสำคัญ เช่น สหภาพยุโรป ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 8% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และจะยิ่งซ้ำเติมการส่งออกไปยังยุโรปที่หดตัวต่อเนื่อง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจยุโรปที่ชะลอตัว
สำหรับมูลค่าส่งออกของไทยเดือน พ.ย.66 อยู่ที่ 23,479.7 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 4.9%YoY ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยการส่งออกขยายตัวได้ในทุกหมวดหลัก ได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตรกรรม และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร จากการฟื้นตัวของตลาดส่งออกสำคัญ เช่น สหรัฐฯ และอาเซียน-5 ที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง และการส่งออกไปญี่ปุ่นที่กลับมาขยายตัว เป็นต้น ส่งผลให้การส่งออก 11 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.66) หดตัว -1.5%