นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพ.ย.66 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้า การบริโภคภาคเอกชน ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในด้านต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดต่อไป
ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ในเดือนพ.ย.66 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 21.2% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 0.2% บ่งชี้ว่าการบริโภคสินค้าคงทนปรับตัวดีขึ้น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนพ.ย.66 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 3.1%
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเดือนพ.ย.66 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 60.9 จากระดับ 60.2 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และสูงสุดในรอบ 45 เดือน สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือนพ.ย.66 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -3.6% และ -3.1% ตามลำดับ
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณทรงตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุน ในเดือนพ.ย.66 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 24.6% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 13.3% ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือนพ.ย.66 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน -46.2%
สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนพ.ย.66 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -0.3% และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ -2.4% ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -1.2% และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ -5.9%
มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อน: โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนพ.ย.66 อยู่ที่ 23,479.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 4.9% และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่าเพิ่มขึ้น 4% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของสินค้าในหมวดเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ นอกจากนี้ สินค้าข้าว ผักสดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ผักกระป๋องและผักแปรรูป และสิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวได้ดี ขณะที่การส่งออกเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และน้ำตาลทรายชะลอตัว
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ปรับตัวดีขึ้นในตลาดสหรัฐฯ อาเซียน-5 ทวีปออสเตรเลีย และญี่ปุ่น รวมทั้งกลุ่มตลาดอื่น ๆ ที่ขยายตัวได้ดี อาทิ กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States: CIS) และสวิตเซอร์แลนด์ ที่ขยายตัว 88.4% และ 77.9% ตามลำดับ ขณะที่ตลาดจีน และอินเดียลดลง
ส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนจากภาคบริการ โดยภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนพ.ย.66 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย รวม 2.64 ล้านคน ขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อน 53.2% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 3.6% โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย จีน รัสเซีย อินเดีย และเกาหลีใต้ ตามลำดับ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนพ.ย. 66 จำนวน 21.6 ล้านคน ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน 13.5% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า -20.3%
ขณะที่ภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม ในเดือนพ.ย.66 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน -2.6% และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า -0.5% จากการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง และหมวดไม้ผล อย่างไรก็ดี ผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ อาทิ สุกร และไก่ขยายตัว สำหรับภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย.66 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 90.9 จากระดับ 88.4 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคในประเทศ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว
สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพ.ย.66 อยู่ที่ -0.44% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.58% ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนต.ค.66 อยู่ที่ 62.1% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพ.ย.66 อยู่ในระดับสูงที่ 249.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ