สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พ.ย.66 อยู่ที่ระดับ 90.83 ลดลง 4.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.) ลดลง 5.01%
ทั้งนี้ ดัชนี MPI เดือนพ.ย.66 ที่หดตัวมาจากปัจจัยสำคัญ คือ เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้ายังคงชะลอตัว เนื่องจากนโยบายการเงินของต่างประเทศที่ยังตรึงดอกเบี้ยในระดับสูง, อุตสาหกรรมยานยนต์ ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4, เศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้า
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสนับสนุน เช่น การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเริ่มกลับมาฟื้นตัว และการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ที่ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์การกลั่นปิโตรเลียม และการแปรรูผัก-ผลไม้, ผลิตภัณฑ์นม, น้ำมันพืช, เนื้อไก่แช่เย็น-แช่แข็ง
ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) เดือน พ.ย. อยู่ที่ 57.87% และช่วง 11 เดือนแรกปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 59.38%
"ดัชนี MPI ยังคงลดลงต่อเนื่อง หลังจากเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้าและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว" นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการ สศอ.กล่าว
ผู้อำนวยการ สศอ.กล่าวว่า เศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้าจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ายังคงชะลอตัว เนื่องจากนโยบายการเงินของต่างประเทศยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง
ส่วนภาคท่องเที่ยวยังคงขยายตัว ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์การกลั่นปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหาร สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในเดือน พ.ย.ขยายตัว 3.37% และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหักทองขยายตัว 2.94% โดยคาดว่าจะส่งผลทำให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมดีขึ้นในช่วงเวลาหลังจากนี้
ขณะที่ระบบเตือนภัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ส่งสัญญาณเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นจากปัจจัยภายในประเทศทุกองค์ประกอบ โดยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวลดลงจากความเชื่อมั่นที่ไม่ใช่ภาคการผลิตลดลง กำลังซื้อของผู้บริโภคยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และภาคการก่อสร้างที่ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากงบประมาณปี 2567 ล่าช้าส่งผลต่อการประมูลโครงการก่อสร้างของภาครัฐ รวมทั้งกังวลการขึ้นค่าแรง
ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังต่อเนื่อง โดยภาคการผลิตของญี่ปุ่นยังคงหดตัว ส่วนสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกายังกังวลเรื่องเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูง
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือน พ.ย.66 ได้แก่
- ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัว 29.91% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการผลิตสินค้าในกลุ่มที่ใช้สำหรับการเดินทางเป็นหลัก ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันเตา จากกิจกรรมการเดินทางในประเทศที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในปีก่อน
- เครื่องประดับเพชรพลอยแท้ ขยายตัว 12.91% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากแหวน สร้อย และเพชร เป็นหลัก โดยขยายตัวทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ประเทศคู่ค้าหลักกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นทั้งการท่องที่ยวหรือการจัดงานแสดงอัญมณี และเร่งคำสั่งซื้อรองรับความต้องการในช่วงเทศกาลปีใหม่
- สายไฟและเคเบิลอื่นๆ ขยายตัว 24.89% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสายไฟฟ้าเป็นหลัก เนื่องจากการขยายตัวของตลาดในประเทศ รวมถึงการส่งมอบตามคำสั่งซื้อของหน่วยงานการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง
- เยื่อกระดาษ กระดาษ และกระดาษแข็ง ขยายตัว 14.18% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้ในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ที่ขยายตัว รวมถึงราคาเยื่อกระดาษ กระดาษแข็งและกระดาษคราฟท์ปรับตัวลดลงทำให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น
- เส้นใยประดิษฐ์ ขยายตัว 29.31% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเส้นใยโพลีเอสเตอร์ และเส้นใยประดิษฐ์อื่นๆ เนื่องจากการขยายตัวของตลาดส่งออกและตลาดในประเทศ โดยเป็นตามคำสั่งซื้อในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์ ของตกแต่งบ้าน เชือก และสายเคเบิล
ส่วนอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลลบ ได้แก่
- อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน หดตัว -14.13% เป็นผลมาจากความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ของสถาบันการเงิน เนื่องจากหนี้ภาคครัวเรือนสูง ทำให้เกิดการหดตัวตลาดรถยนต์ภายในประเทศ โดยปรับลดอย่างชัดเจนโดยเฉพาะยอดขายรถบรรทุกปีกอัพ ส่งผลให้การจำหน่ายรถปีกอัพในประเทศลดลงถึง -45.44% และรถปีกอัพการผลิตลดลง -17.08%
- ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หดตัว -16.38% เป็นไปตามทิศทางตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ชะลอตัวลง อีกทั้งอุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนประเภทสินค้าที่ผลิตจากสินค้าในกลุ่ม home-use (ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในอุปกรณ์ฟฟ้าภายในครัวเรือน) เพื่อจำหน่ายในช่วงโควิด มาผลิตสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมแทน เช่น ยานยนต์ IOT เป็นต้น ทำให้มีจำนวนผลิตลดลงแต่ราคาต่อหน่วยเพิ่มขึ้น
- เหล็กและเหล็กกล้า หดตัว -14.19% จากการหยุดซ่อมบำรุงของผู้ผลิตบางราย และลูกค้าไม่มีคำสั่งซื้อ โดยลูกค้าส่วนหนึ่งเลือกซื้อเหล็กนำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศแทนเนื่องจากราคาถูกกว่า รวมถึงความต้องการใช้ยังคงหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจ การเบิกจ่ายโครงการต่างๆ ของภาครัฐเป็นไปอย่างล่าช้า
ผู้อำนวยการ สศอ.กล่าวว่า กรณีกลุ่มเฮติโจมตีเรือส่งสินค้าในทะเลแดงจนส่งผลให้มีการปรับขึ้นค่าระวางเรือและค่าประกันภัยนั้นคาดว่า สถานการณ์ในขณะนี้น่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น
สำหรับในปี 66 อุตสาหกรรมดาวรุ่ง ได้แก่ อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์เติบโตขึ้นมากจากการขยายตัวของธุรกิจดิลิเวอรี่, อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศที่มีเทคโนโลยี เช่น การสั่งให้ทำงานระยะไกล การกรองฝุ่น PM2.5, อุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มที่เน้นการดูแลสุขภาพ ส่วนอุตสาหกรรมดาวร่วง ได้แก่ อุตสาหกรรม Hard Disk Drive (HDD) เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี, อุตสาหกรรมสิ่งทอ ยกเว้นกลุ่มพิเศษ เช่น ผ้าป้องกันกลิ่นเหงื่อ, เฟอร์นิเจอร์ หากไม่มีการปรับวิธีผลิตและรูปแบบ
ส่วนในปี 67 อุตสาหกรรมดาวรุ่ง ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเริ่มการผลิตตามนโยบายรัฐบาลที่ให้การสนับสนุน, อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ส่วนอุตสาหกรรมดาวร่วง ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก, อุตสาหกรรม Hard Disk Drive (HDD) , อุตสาหกรรมสิ่งทอ
ทั้งนี้ สศอ.เตรียมจัดทำแผนปรับโครงสร้างการผลิตของอุตสาหกรรมในประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก