นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การเงินและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองทิศทางการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศปี 2567 ฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสสี่ปี 2566 อัตราการขยายตัวของภาคส่งออกเริ่มเป็นบวก ราคาสินค้าส่งออกหลายประเภทโดยเฉพาะอาหารเพิ่มขึ้น อัตราการขยายของการนำเข้าฟื้นตัวแรงในเดือน พ.ย. และมีการนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้นถึง 23.9% ภาวะการนำเข้าดังกล่าวสะท้อนภาคการลงทุนเติบโตแข็งแกร่งในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า คาดว่า อัตราการขยายตัวของการส่งออกปี 2567 น่าจะขยายตัวได้ประมาณ 3.5-4.5% จากการที่ปริมาณการค้าโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 2.8-3.5% (จากคาดการณ์ของธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ และองค์การการค้าโลก)
"มูลค่าส่งออกของไทยยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่แม้ตัวเลขเดือนพฤศจิกายนสินค้าส่งออกปรับตัวดีขึ้นทุกกลุ่ม การขยายตัวเพิ่มขึ้นมากในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาเป็นปัจจัยเรื่องฐานต่ำเป็นหลัก โดยเฉพาะมูลค่าการส่งออกในเดือนพฤศจิกายนเติบโตกว่า 4.9% YoY ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเทียบกับการติดลบกว่า -5.6% ของเดือนพฤศจิกายนปี 65" นายอนุสรณ์ กล่าว
การแบ่งขั้วของเศรษฐกิจโลกมีความรุนแรงลดลง จากที่ผ่านมาทำให้รูปแบบ ทิศทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ และระบบห่วงโซ่การผลิตของโลกเปลี่ยนแปลงไป นโยบายเปิดเสรีมีความไม่แน่นอนมากขึ้น การหลอมรวมทางด้านการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศพันธมิตรความร่วมมือในภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้น แม้ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ลดพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจากจีนลงตามลำดับ จนเหลือราว 16% ของการนำเข้าทั้งหมด แต่จะไม่ได้ลดลงจากระดับนี้มากนักเมื่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศดีขึ้น สหรัฐฯ ลดการลงทุนโครงการใหม่ๆ ในจีนลง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ อาเซียนจะได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนของบรรษัทข้ามชาติสัญชาติตะวันตก ประเทศไทยถือเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออกและนำเข้าในห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับผลกระทบจากการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ แม้ผลกระทบนี้จะเบาลงในปี 2567 แต่กระแสการเคลื่อนย้ายการลงทุนและการผลิตยังคงเกิดขึ้น เป็นโอกาสของไทยในการดึงดูดการลงทุน หากไทยมีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะระบบการศึกษาและวิจัยที่มีคุณภาพ และระบบความเป็นสถาบันของกฎหมายและความยุติธรรม
ภาวะดอกเบี้ยเริ่มขาลงทั้งดอกเบี้ยภายในประเทศและดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่อาจจะเริ่มเห็นสัญญาณของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไตรมาสสองปี 2567 น่าจะทำให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกคึกคักขึ้น ทิศทางการอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐฯ จะทำให้ทองำคและคริปโทเคอร์เรนซียังคงได้รับสนใจในฐานะสินทรัพย์เพื่อการลงทุนเพิ่มขึ้น
การจัดทำงบปี 2567 ขาดดุลลดลงจากระดับ 3.83% ต่อจีดีพี มาอยู่ที่ 3.63% หนี้สาธารณะต่อจีดีพีดีขึ้นหมายความว่า เศรษฐกิจไทยต้องเติบโตตามเป้าหมายที่ระดับ 5.4% จะสามารถทำให้ประมาณการรายรับเป็นไปตามเป้าหมายที่ระดับ 2.787 ล้านล้านบาท สอดคล้อง 13 หมุดหมายภายใต้แผน 13 ประการ ได้แก่ 1.ประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง 2.ท่องเที่ยวเน้นคุณภาพและความยั่งยืน 3.ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสำคัญของโลก ตอบสนองทุกช่วงวัย 4.ศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง 5.ประตูการค้าและยุทธศาสตร์โลจีสติกส์ 6.ฐานการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 7.SMEs ศักยภาพสูง แข่งขันได้ 8.เมืองอัจฉริยะน่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน 9.มีความยากจนข้ามรุ่นลดลง ความคุ้มครองทางสังคมเพียงพอ 10.เศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ 11.ลดความเสี่ยงจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 12.กำลังคนสมรรถนะสูงตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และ 13.ภาครัฐทันสมัย มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ประชาชน
ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลนั้นมีลักษณะเป็นเศรษฐกิจสังคมนิยมผ่านการแบ่งปัน (Sharing) และผ่านแนวคิดสังคมเครือข่ายความร่วมมือ (Collectivism) แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจแบ่งปันผ่านแนวคิดเครือข่ายความร่วมมือคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2567 วิกิพีเดีย (Wikipedia) เป็นตัวอย่างอย่างชัดเจนถึงแนวคิดแบ่งปันและแนวคิดสังคมเครือข่ายความร่วมมือ โดยเป็นชุดข้อมูลเอกสารที่เป็นแหล่งความรู้ที่ผู้คนช่วยกันสร้างขึ้นมา ใครก็ได้และทุกคนสามารถเขียน เพิ่ม แก้ไข หรือปรับเปลี่ยนข้อความได้ วาร์ด คันนิงแฮม (Ward Cunningham) ผู้สร้างวิกิพีเดียซึ่งเป็นเว็บระบบทำงานร่วมกัน (Collaborative) มีสัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons) เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายและเกื้อหนุนให้ผู้คนยินยอมให้ใช้สิทธิ์ในรูปภาพ ข้อความ หรือผลงานเพลงของตัวเองและดัดแปลงแก้ไขได้อย่างถูกกฎหมายโดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตอีก พูดอีกอย่างก็คือ การแบ่งปันเนื้อหาและการแจกจ่ายตัวอย่างเนื้อหาเป็นตัวเลือกใหม่ในการตั้งค่ามาตรฐาน การขยายตัวของเว็บไซต์แบ่งปันไฟล์งานเกิดขึ้นมากมายหลังการเกิดขึ้นของ วิกิพีเดีย เช่น ทอร์ หรือ TOR (The Onion Router), เรดดิต (Reddit), พินเทอเรสต์ (Pinterest), ทัมเบลอร์ (Tumblr) เป็นต้น เว็บไซต์เหล่านี้ทำหน้าที่เป็นตัวกรองด้วยความร่วมมือกันจากผู้ใช้เพื่อส่งเสริมสิ่งใดก็ตามที่ดีที่สุดในขณะนั้น เกือบทุกวันจะมีบริษัทเปิดใหม่สักแห่งหนึ่งออกมาแนะนำแนวทางใหม่ๆ อย่างภูมิใจที่จะนำพลังจากความร่วมมือของชุมชนออนไลน์มาใช้ประโยชน์ การพัฒนาเหล่านี้แสดงให้เห็นทิศทางที่กำลังมุ่งหน้าไปสู่สังคมนิยม และสังคมเครือข่าย
Jeffrey Sachs นักเศรษฐศาสตร์ได้เสนอยุทธศาสตร์เกี่ยวกับหลักการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circularity and Decoupling) แนวคิดหลักๆ ของเศรษฐกิจหมุนเวียนคือการนำของเสียวนเข้ากลับมาในวัฏจักรการผลิตเพื่อนำไปสู่การบริโภคหรือการบริการ แนวคิด Decouple เริ่มเป็นที่ถูกพูดถึงเพราะโลกมีแนวโน้มประชากรที่เพิ่มขึ้นหากอ้างอิงจากเว็บไซต์ worldometers.info ซึ่งรวมข้อมูลการเกิดและการตายของประชากรทั่วโลก โดยในปี 2564 มีจำนวนประมาณ 7,800 ล้านกว่าคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปีหลังๆ การที่ประชากรในโลกเพิ่มขึ้นนำมาสู่การบริโภคและการผลิตที่มากขึ้นส่งผลมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น เมื่อมีการผลิตสินค้าที่มากขึ้นจะนำไปซึ่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน เช่น จำนวนขยะพลาสติกทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น 8.3 พันล้านตันตั้งแต่ช่วงต้นปี 2493 ระดับของ Decoupling สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับ คือ 1.Absolute decoupling ระดับของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ขณะที่มีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมลดลง 2.Relative decoupling ระดับของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นมากกว่าผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น
สังคมนิยมแบบดิจิทัลโดยใช้เศรษฐกิจแบบเครือข่ายแบ่งปันกันนั้นต่างจากระบบสังคมนิยมที่ใช้การสั่งการโดยรัฐบาลแบบบนลงล่างที่มีลักษณะแบบวางแผนจากศูนย์กลาง มีลักษณะที่เราเรียกว่า Centralized and Command Economy แต่สังคมนิยมแบบดิจิทัลเป็นระบบเศรษฐกิจแบบกระจายศูนย์ (Distributed and Decentralized Economy) สังคมนิยมแบบดิจิทัลจึงมีรากฐานจากเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไร้พรมแดน หน่วยเศรษฐกิจหรือผู้คนสามารถประสานความร่วมมือกันได้อย่างเหนียวแน่น การสื่อสารและการทำงานแบบเครือข่ายก่อให้เกิดสังคมแบบกระจายศูนย์แบบสุดขั้ว แทนที่จะใช้การรวบรวมผลผลิตในระบบนารวมแบบในประเทศสหภาพโซเวียตหรือประเทศจีนในสมัยเหมา เจ๋อ ตุง ก็ใช้เทคโนโลยีรวบรวมผลงานของทุกคนผ่านเครือข่ายทางด้านไอทีที่เชื่อมโยงกัน สามารถแบ่งปันข้อมูลผลงานต่างๆ กันได้ เป็นลักษณะการทำงานโดยหน่วยย่อยโดยกลุ่มคนรวมตัวกันเป็นชุมชนจัดการบริหารและจัดสรรผลประโยชน์ร่วมกันที่เราอาจเรียกว่าเป็น Peer Production เมื่อผู้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ไม่ว่าจะเป็นทุน แรงงาน ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดประกอบการ เครื่องจักรอุปกรณ์หรือที่ดิน พยายามทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันและแบ่งปันผลผลิตกันจนเป็นภาวะปรกติในระบบเศรษฐกิจ และพร้อมร่วมแรงร่วมใจในการไม่รับตอบแทนจากปัจจัยการผลิตหรือค่าจ้าง พร้อมกับพอใจกับสิ่งที่ตัวเองได้รับตอบแทนโดยไม่ต้องจ่ายเงิน
"เราย่อมเรียกระบบเศรษฐกิจดังกล่าวว่า มีลักษณะความเป็นสังคมนิยมอยู่แต่เป็นเศรษฐกิจสังคมนิยมแบบดิจิทัล ซึ่งนักวิชาการบางท่านเรียกว่า เศรษฐกิจแบบแบ่งปันนั่นเอง ในโลกสังคมออนไลน์นั้นผู้คนต่างแบ่งปันข้อมูล ข่าวสาร ภาพถ่ายกันมากมาย นอกจากนี้ยังมีโพสต์อัปเดตสถานะ การระบุตำแหน่งบนแผนที่ มีคลิปวิดิโอมากมายที่ถูกโพสต์ในยูทูป เราเห็นเนื้อหาต่างๆ ถูกแบ่งปันเกิดขึ้นโดยทั่วไปอันเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของเศรษฐกิจสังคมนิยมแบบดิจิทัล" นายอนุสรณ์ กล่าว
ขณะที่การแบ่งปันของชุมชนออนไลน์สามารถปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ต่างๆ ได้เหมือนเป็นการร่วมกันทำงาน (Cooperation) เว็บไซต์อย่าง เรดดิต และ ทวิตเตอร์ อาจสร้างการชี้นำความคิดของประชาชนได้มากกว่าหนังสือพิมพ์หรือสถานีโทรทัศน์ขนาดใหญ่ โลกออนไลน์ในระบบเศรษฐกิจแบบดิจิทัล เครือข่ายที่ทำงานร่วมกันย่อมได้รับผลลัพธ์ที่ดีกว่าผลงานที่ต่างคนต่างทำ การร่วมกันทำงานแบบเครือข่ายออนไลน์นั้นเป็นการทำงานข้ามพรมแดนรัฐชาติและมีลักษณะเป็นนานาชาติ
ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมเครือข่ายความร่วมมือ (Collectivism) และประสานความร่วมมือเชิงลึก (Collaboration) ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีทำให้การแบ่งปันในระบบเศรษฐกิจสามารถเกิดขึ้นในขอบเขตกว้างขวางและขยายตัวอย่างก้าวกระโดดผ่านสังคมเครือข่ายความร่วมมือ มีคนมาช่วยกันทำงานเป็นกลุ่มทางออนไลน์มากมาย ยกตัวอย่างเช่น วิกิพีเดียก็มีผู้ใช้ลงทะเบียนเกือบ 25 ล้านคนเข้ามาช่วยสร้างเนื้อหาโดยมีผู้เขียนประจำอยู่มากกว่า 150,000 ราย อินสตาแกรมมีผู้ใช้ที่เข้าโพสต์เป็นประจำมากกว่า 350 ล้านคน แต่ละเดือนมีกลุ่มมากกว่า 700 ล้านกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมในเฟซบุ๊ก (Facebook) เว็บไซต์แบบเรดดิต (Reddit) ใช้เทคนิค Collaborative Filtering เพื่อคัดเลือกหัวข้อที่อยู่ในกระแสสนใจนั้น มีผู้เข้าชมที่ไม่ใช่บุคคลซ้ำกัน (Unique Visitors) มากถึง 170 ล้านคนต่อเดือนและมีชุมชนออนไลน์ที่ทำกิจกรรมร่วมกันทุกวันมากกว่า 15,000 ชุมชน ยูทูปมีผู้ใช้บริการมากกว่า 2 พันล้านคนต่อเดือน ซึ่งผู้ใช้บริการเหล่านี้ต่างเป็นผู้ช่วยในสร้างชุมชนขนาดใหญ่ด้วยการผลิตวิดิโอและนำวิดิโอมาโพสต์ลงบนยูทูป ทำให้กลายเป็นสื่อที่เป็นคู่แข่งสำคัญของสถานีโทรทัศน์และบริษัทโฆษณาทั้งหลาย
เศรษฐกิจแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์นั้นถูกขับเคลื่อนและดำเนินไปโดยแรงงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างในส่วนสำคัญของกิจการ ผู้คนเป็นพันล้านคนใช้เวลามากมายในแต่ละวันเพื่อสร้างเนื้อหาให้เฟซบุ๊กฟรีๆ โดยรายงานเหตุการณ์ต่างๆ แสดงความคิดเห็น นำเสนอเรื่องราวต่างๆ พร้อมโพสต์รูปภาพต่างๆ โพสต์วิดิโอต่างๆ สิ่งที่อาจจะพิจารณาว่าเป็นค่าจ้างได้ ก็คือ การสื่อสารถึงกลุ่มคนต่างๆ และความสัมพันธ์ใหม่ หากโพสต์มีคนเข้าชมหรือมีส่วนร่วมมากพอก็อาจได้รับส่วนแบ่งจากโฆษณาเพียงเล็กน้อย ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมและได้รับประโยชน์ที่เหมาะสมในเงื่อนไขที่เหมาะสม ในอนาคตการแบ่งปันข้อมูลอาจจะขยายไปยัง ข้อมูลการเงินส่วนบุคคล ปัญหาสุขภาพ หรือชีวิตส่วนตัวก็ได้
นายอนุสรณ์ แสดงความห่วงใยว่า ช่องว่างทางดิจิทัลจะทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมย่ำแย่ลง เวลาเราพูดถึง ช่องว่างดิจิทัล เรามักหมายถึงช่องว่างระหว่างกลุ่มที่เข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลกับกลุ่มที่เข้าไม่ถึง ความแตกต่าง ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต อุปกรณ์สื่อสารและคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งที่สะท้อนความสามารถทางการเงิน ฐานะทางเศรษฐกิจ ทักษะและศักยภาพของบุคคลที่แตกต่างกันอีกด้วย เราจึงเห็นความแตกต่างของการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศด้อยพัฒนา ระหว่างพื้นที่ในเมืองใหญ่กับชนบท ความไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้ทำให้เป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพ การศึกษา ข้อมูลข่าวสารและโอกาสทางเศรษฐกิจต่างๆ ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึง การใช้ และผลกระทบจากเทคโนโลยีโทรคมนาคมและการสื่อสารของผู้คน ตั้งแต่อดีตจนก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลในระยะต่อมา ทำให้ความไม่เท่าเทียมนี้ถูกเรียกในภายหลังว่า ช่องว่างทางดิจิทัล หรือ Digital Divide ซึ่งแปลความให้ง่ายก็คือ ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต
ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยีและช่องทางในการติดต่อสื่อสารของมนุษย์เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติของการใช้โทรเลขของโลกตั้งแต่ปี 2392 เป็นต้นมา พบว่าช่องว่างทางด้านการเข้าถึงเทคโนโลยีหรือความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงระบบโทรเลขของประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันตกมีแนวโน้มลดลงหรือในบางกรณีกลับเป็นตรงกันข้ามและช่องว่างนี้มีความเชื่อมโยงกับความไม่เท่าเทียมประเภทอื่นๆ ด้วย เช่น ความไม่เท่าเทียมทางด้านเศรษฐกิจและการศึกษา จากข้อมูลที่เผยแพร่โดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union : ITU) เมื่อปี 2562 พบว่าประชากรทั้งโลกซึ่งมีอยู่ประมาณ 7,700 ล้านคน มีประชากรเพียง 53.6% เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ประชาชนจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะคนในแอฟริกา ละตินอเมริกาและเอเชียใต้
ขณะที่ข้อมูลของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) พบว่า ปัญหาของครัวเรือนในไทยที่ใหญ่กว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจากที่บ้านคือ การไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ที่บ้าน หากเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ประเทศไทยมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์เพียง 21% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกที่ 49% และค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาที่ 38% ขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีอินเทอร์เน็ตที่บ้าน 68% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกที่ 55% และค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาที่ 44% ในปี 2563 การเข้าถึงคอมพิวเตอร์ของครัวเรือนยิ่งยากมากขึ้นหากเป็นครัวเรือนที่มีฐานะยากจน จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2560 ในประเทศไทย ครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปีน้อยกว่า 2 แสนบาทมีคอมพิวเตอร์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพียง 3% ของครัวเรือนทั้งหมด ขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปี 2 แสนบาทขึ้นไปมีคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต 19% ของครัวเรือนทั้งหมด
ความไม่เท่าเทียมจากการเข้าถึงเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตที่ผู้คนทั้งโลกเกิดจากปัจจัยอย่างน้อยที่สุด 3 ประการคือ 1.ช่องว่างในการเข้าถึงการใช้เทคโนโลยี (วัดจากจำนวนและการกระจายตัวของเทคโนโลยี เช่น จำนวนโทรศัพท์ จำนวนคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เป็นต้น) 2.ช่องว่างจากความสามารถในการใช้เทคโนโลยี (วัดจากทักษะและปัจจัยเสริมอื่นๆ) และ 3.ช่องว่างที่มีผลกระทบต่อการใช้งาน (วัดจากผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ การเงิน หรือการวัดผลด้านอื่น)