นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติปรับโครงสร้างภาษีอากรและภาษีสรรพสามิต โดยเฉพาะภาษีสุราพื้นบ้านปรับเป็น 0% เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในประเทศ และมอบหมายให้กรมสรรพสามิต ทบทวนกฏหมายต่างๆที่เกี่ยวกับสุราพื้นบ้าน
นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ2 มาตรการ ส่งเสริมประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย ประกอบด้วย การปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มสินค้าสุราบางประเภท การยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าไวน์ และการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตเป็นการชั่วคราว สำหรับกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ
1.สุราแช่ชนิดไวน์และสปาร์กลิ้งไวน์ที่ทำจากองุ่น (Wine) ยกเลิกการจัดเก็บภาษีจากการแบ่งชั้นของราคา (Price Tier) และกำหนดให้มีการจัดเก็บเป็นอัตราเดียว (Unitary Rate) โดยปรับอัตราภาษีให้มีอัตราภาษีตามมูลค่าที่ 5% และอัตราภาษีตามปริมาณที่ 1,000 บาท ต่อปริมาณ 1 ลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์
2. สุราแช่ผลไม้ที่มีส่วนผสมขององุ่นหรือไวน์องุ่น (Fruit Wine) ยกเลิกการจัดเก็บภาษีจากการแบ่งชั้นของราคา (Price Tier) และกำหนดให้มีการจัดเก็บเป็นอัตราเดียว (Unitary Rate) โดยปรับอัตราภาษีให้มีอัตราภาษีตามมูลค่าที่ 0% และอัตราภาษีตามปริมาณที่ 900 บาท ต่อปริมาณ 1 ลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์
3.สุราแช่ชนิดอื่นๆ จากเดิมจัดเก็บภาษีอัตราตามมูลค่า 10% และอัตราตามปริมาณ 150 บาท ต่อปริมาณ 1 ลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ให้กำหนดอัตราภาษีโดยจำแนกพิกัดอัตราภาษีประเภทย่อย ดังนี้
3.1อุ กระแช่ สาโท สุราแช่พื้นบ้านอื่น และสุราแช่ที่ใช้วัตถุดิบเป็นข้าวที่มีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 7 ดีกรี โดยกำหนดอัตราภาษีตามมูลค่า 0% และอัตราตามปริมาณ 150 บาท ต่อปริมาณ 1 ลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์
3.2 สุราแช่ ที่มีการผสมสุรากลั่นและมีแรงแอลกอฮอล์เกินกว่า 7 ดีกรี โดยกำหนดอัตราภาษีตามมูลค่า 10% และอัตราภาษีตามปริมาณ 255 บาท ต่อปริมาณ 1 ลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์
3.3 สุราแช่อื่นๆ นอกจาก 3.1 และ 3.2 โดยกำหนดอัตราภาษีตามมูลค่า 10% และอัตราภาษีตามปริมาณ 150 บาท ต่อปริมาณ 1 ลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์
4. สุราแช่ที่มิใช่เพื่อการค้า ได้มีการปรับโครงสร้างและอัตราภาษีให้สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างภาษีและอัตราภาษีในครั้งนี้ โดยกำหนดอัตราภาษีตามมูลค่า 0% และอัตราภาษีตามปริมาณเท่ากับอัตราภาษีของสินค้าสุราแช่
นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบในการปรับลดภาษีสรรพสามิตธุรกิจบันเทิง เหลือ 5% จากเดิม 10% สำหรับไนต์คลับ ดิสโกเธค ผับ บาร์ ค็อกเทลเลาจน์ รวมถึงสถานที่ที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24.00 น. เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวและบริการ ให้สอดคล้องกับนโยบายสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวของรัฐบาล
มาตรการนี้เป็นมาตรการระยะสั้นมีกำหนดระยะเวลาประมาณ 1 ปี (สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 67)
การปรับปรุงหลักเกณฑ์การตรวจสินค้าเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของนักท่องเที่ยว (VAT Refund for Tourists) เพื่อลดปริมาณนักท่องเที่ยวที่ต้องเข้าคิวเพื่อแสดงสินค้าในกระบวนการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ปรับเพิ่มวงเงินซื้อสินค้าที่ต้องแสดงต่อเจ้าพนักงานศุลกากร จากเดิมตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไป เป็น 20,000 บาทขึ้นไป ซึ่งจะลดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ต้องแสดงสินค้าลงจาก 1.2 แสนรายต่อปี เหลือประมาณ 30,000 รายต่อปี หรือลดลงประมาณ 75%
- ปรับเพิ่มมูลค่าสินค้าที่ต้องนำไปแสดงต่อเจ้าพนักงานสรรพากร 9 รายการ (Luxury Goods) ได้แก่ เครื่องประดับ ทองรูปพรรณ นาฬิกา แว่นตา ปากกา สมาร์ทโฟน แล็ปท็อปหรือแท็บเล็ต กระเป๋า (ไม่รวมกระเป๋าเดินทาง) เข็มขัด จากเดิมมูลค่าต่อชิ้นตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป เป็น 40,000 บาทขึ้นไป
- ปรับเพิ่มมูลค่าของที่สามารถถือขึ้นเครื่องได้ (carry-on) จากเดิมมูลค่าต่อชิ้นตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป เป็น 100,000 บาทขึ้นไป
หลักเกณฑ์ใหม่นี้จะช่วยลดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ต้องแสดงสินค้าลงจาก 1.2 แสนรายต่อปี (หรือ 4.7% ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขอคืนภาษีทั้งหมด) เหลือประมาณ 30,000 รายต่อปี (หรือ 1.2% ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขอคืนภาษีทั้งหมด) หรือลดลงจาก 333 คนต่อวัน ที่ต้องแสดงสินค้าเหลือเพียง 84 คนต่อวัน โดยประมาณ หรือลดลงกว่า 75%
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การปรับปรุงโครงสร้างและอัตราภาษีสรรพสามิตและการยกเว้นอากรขาเข้าต่าง ๆ ข้างต้น จำเป็นต้องตราเป็นกฎกระทรวงและประกาศกระทรวงการคลังตามลำดับ ซึ่งจะได้เร่งดำเนินการให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วภายในเดือนม.ค. 67 ทั้งนี้ ในภาพรวมมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายที่กระทรวงการคลังเสนอ จะส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้นสุทธิประมาณ 401 ล้านบาทต่อปีและ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.0073% เทียบกับกรณีไม่มีมาตรการ
นอกจากนี้ ภาครัฐยังจะสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เพิ่มเติมในอนาคตจากการเพิ่มขึ้นของการจับจ่ายใช้สอยและการเพิ่มขึ้นของรายได้ของผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร ภัตตาคาร ธุรกิจบริการ สถานบันเทิง โรงแรมที่พัก ผู้ให้บริการขนส่ง สายการบินเป็นต้น และส่งผลให้มีการลงทุนขยายกิจการและการจ้างงานเพิ่มขึ้นต่อไปส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีขึ้น
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า โครงสร้างภาษีไวน์ใหม่นี้ จะทำให้ไวน์ที่ราคาเกิน 1,000 บาทถูกลง ส่วนไวน์ที่ราคาไม่เกิน 1,000 บาท จะใกล้เคียงกับของเดิม เช่น ไวน์ขวดละ 10,000 บาท เดิมเสียภาษีประมาณ 1,000 บาท หลังจากนี้จะเสียภาษี 600 บาท เป็นต้น
โดยประเมินว่า ภาพรวมการจัดเก็บภาษีไวน์ภายหลังจากการปรับโครงสร้างภาษี จะเพิ่มขึ้นราว 900 ล้านบาท โดยทิศทางการจัดเก็บภาษีไวน์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปีที่ผ่านมาจากเก็บได้ 2,500 ล้านบาท เพิ่มจากก่อนหน้านี้ที่ 1,800 ล้านบาท ขณะเดียวกันได้มีการพิจารณาแล้วว่าโครงสร้างภาษีเดิมยังไม่เป็นสากล เพราะมีการเก็บแบบ Price Tier ดังนั้นจึงมีการปรับเพื่อให้เป็นสากลมากขึ้น
ส่วนการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตกิจการบันเทิงและหย่อนใจนั้น เชื่อว่าจะช่วยทำให้ผู้ประกอบการที่อยู่นอกระบบ เข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น และจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องมากขึ้นด้วย โดยก่อนหน้านี้ มีผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบ 1,500 ราย แต่ในช่วงโควิด-19 ลดลงเหลือราว 700 ราย ซึ่งหลังจากมีมาตรการนี้ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการเข้ามาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19
ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ในปี 2567 มีการประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยราว 34-35 ล้านคน โดยหลังจากมีมาตรการส่งเสริมประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย จะช่วยทำให้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2,900 ล้านบาท จากเป้าหมายเดิมก่อนมีมาตรการที่ 1.49 ล้านล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายต่อหัว คาดว่าจะเพิ่มเป็น 43,400 บาท จากเดิมที่ 42,000 บาท ขณะที่การบริโภคแอลกอฮอล์ จะเพิ่มขึ้นราว 3% จากสถิติในอดีต