นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการโทรทัศน์เช้านี้ ยอมรับว่าได้โพสต์ข้อความตำหนิการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นเรื่องที่เคยพูดมาตลอดตั้งแต่ก่อนตั้งรัฐบาลในเดือนส.ค. 66 และไม่เคยหยุดพูดเรื่องดอกเบี้ยสูง ทุกครั้งที่ดอกเบี้ยสูงขึ้นเป็นโอกาสในการทำรายได้สูงขึ้นของสถาบันการเงิน เพราะดอกเบี้ยเงินกู้ขยับเร็วกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ตอนดอกเบี้ยขึ้นมาในช่วงแรกๆ ไม่อยากวิจารณ์ ทั้งๆ ที่เริ่มเห็นสัญญาณแล้ว แต่พอขึ้นต่อเนื่องหลายๆ ครั้ง จนกระทั่งอยู่ในจุดที่เกินความพอดีไปมากแล้ว
"นักวิชาการหลายกลุ่มก็มอง แต่ไม่มีใครกล้าพูด พูดแค่ในร้านกาแฟ ผมไม่ได้หิวแสง และไม่ได้กระทบกระทั่งกับใคร แต่การพูดเตือนสติ เตือนใจรุ่นน้อง ให้เข้าใจแง่มุมทางเศรษฐศาสตร์ และไม่ใช่ว่าจะยึดหลักบอกว่าควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งควบคุมได้จริง เพราะทำลายกำลังซื้อที่อ่อนแออยู่แล้วลงไป จนกระทั่งเงินเฟ้อติดลบแล้ว แท้จริงแล้วมองเห็นได้ตั้งแต่ช่วงกลางปี 66 แล้วว่าการขึ้นดอกเบี้ยในภาวะที่กำลังซื้ออ่อนแอ และเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเวลานั้นเกิดจาก Cost-Push นั้นไม่ช่วยอะไร" นายกิตติรัตน์ กล่าว
หาก ธปท. จะแย้งว่าประเทศอื่นขึ้นดอกเบี้ยถ้าไทยไม่ขึ้นตามจะเกิดเงินทุนไหลออกและกระทบเงินบาทนั้น นายกิตติรัตน์ มองว่า ถ้าประเทศไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศต่ำ และเงินที่เข้ามาเป็นเงินที่เข้ามาเพื่อแสวงหาประโยชน์อัตราผลตอบแทนในตลาดเงินในสัดส่วนที่สูงมาก การกังวลว่าไทยดอกเบี้ยต่ำกว่านานาชาติและจะไหลออก จนกระทั่งไทยเหลือเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไม่พอ ก็เป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้
แต่ประเทศไทยอยู่ในฐานะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากเพียงพอ และมีเงินทุนต่างชาติส่วนหนึ่งที่เข้ามาเพื่อแสวงหาผลตอบแทนระยะสั้นๆ ในตลาดการเงิน ดังนั้น ถ้ากลุ่มนั้นจะออกไปคงไม่เป็นไร แต่ถ้าสมมติเราจัดการไม่ถูก ทำจนกระทั่งเศรษฐกิจอ่อนแอ กลุ่มเงินทุนระยะยาวที่มีการลงทุนในไทย โดยหวังว่าเศรษฐกิจไทยดีและแข็งแรง จะกังวลจนอาจจะออกไปด้วย เป็นเรื่องที่ไม่ควรให้เกิดขึ้น ดังนั้น การที่จะมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ และเงินทุนกลุ่มระยะสั้นไหลออกไป ค่าเงินบาทอ่อนลง เป็นคุณต่อผู้ส่งออก
"เห็นมาแล้วหลังปี 2540 พอเงินบาทอ่อน ธุรกิจแข่งขันลำบาก เราเริ่มพอแข่งขันได้ สามารถสะสมความได้เปรียบทางการค้า ได้ดุลบัญชีเดินสะพัด เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มากอยู่ทุกวันนี้ มาจากคุณูปการจากการที่ค่าเงินบาทเคยอ่อนค่า จริงอยู่ที่ค่าเงินบาทที่อ่อนอาจทำให้สินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้น ก็กลัวว่าจะไปทับถมเรื่องเงินเฟ้อถ้าสินค้านำเข้าสูงขึ้น เราสามารถผลิตเองได้ในราคาที่แข่งขันได้ ก็เกิดเป็นคุณเหมือนกัน ดังนั้น การที่จะชั่งน้ำหนักให้ดีว่าตรงไหนควรทำก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา" นายกิตติรัตน์ กล่าว
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ในวันที่ 7 ก.พ.นี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการประชุม หวังว่าจะเป็นฟางเส้นแรกๆ ที่ถูกถอนออกจากน้ำหนักที่กดทับ ทำให้เบาลงได้ เนื่องจากการลดอัตราดอกเบี้ยที่มากและเร็วเป็นทางรอด เพราะแม้จะกำหนดการประชุมล่วงหน้า แต่ในกรณีที่มีความจำเป็นสามารถจัดประชุมนอกรอบได้
"เรื่องการกำหนดการประชุม 6 ครั้งต่อปี ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะแต่เดิมประชุม 8 ครั้งต่อปี ซึ่งดีกว่าเพราะมีความถี่ ในกรณีที่จะต้องทำอะไร หลายประเทศที่เป็นประเทศชั้นนำยังประชุม 8 ครั้งอยู่ มองว่าวันที่ 7 ก.พ. คนจับตาดูแน่นอน และถ้าการวิจารณ์นี้แทนที่จะไปใช้ประโยชน์กลายเป็นทิฐิ เป็นเรื่องน่าเศร้า" นายกิตติรัตน์ กล่าว