นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ผ่านมาเร็วและแรงเกินไปกระทบต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน
"ตัวอย่างง่าย ๆ เลย ตอนนี้อัตราเงินเฟ้อติดลบมา 2-3 เดือน ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นสถานการณ์ที่กระทรวงการคลังจับตาดูใกล้ชิด" รมช.คลัง ระบุ
พร้อมยอมรับว่า เป็นห่วงสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน แน่นอนว่าภาวะเศรษฐกิจที่เงินเฟ้อติดลบ ส่อไปในทางที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวได้ แต่กลไกของรัฐก็มีหน้าที่ที่จะกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจให้ประชาชนสามารถอยู่ได้ มีเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่เพียงพอ ซึ่งรัฐบาลมีหลายกลไกที่จะใช้ดำเนินการ ทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ที่ต้องเร่งผลักดันให้ได้เร็วที่สุด กลไกในการใช้งบประมาณไปพลางก่อนก็เป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะต้องดำเนินการ เพราะนี่เป็นเครื่องมือทางการคลังที่เราใช้ได้
ส่วนอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ จะส่งผลให้เกิดภาวะเงินฝืดหรือไม่นั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า อยู่ในการจับตาดูของกระทรวงการคลังด้วยเช่นกันว่ามีความเสี่ยงในระดับนั้นหรือไม่ แต่ขณะนี้ยังไม่อาจชี้ชัดได้ เพราะสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง มาจากกลไกการช่วยเหลือเรื่องราคาพลังงาน
ส่วนจะคาดหวังให้ กนง.พิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงหรือไม่นั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ตอบไม่ได้ เพราะไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง ในส่วนของกระทรวงการคลัง ในฐานะกำกับดูแลธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ มีนโยบายตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ให้นานที่สุด โดยในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2566 ทุกแห่งก็มีการตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และ ในช่วงต้นปี 2567 ก็มีการปรับขึ้นเล็กน้อย เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปรับขึ้นดอกเบี้ย MLR แค่ 25 สตางค์เท่านั้น ก็พยายามตรึงกันอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้ลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบ
ส่วนจะมีโอกาสในการหารือกับ ธปท. ในประเด็นนี้หรือไม่นั้น เป็นภารกิจของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ที่จะมีการพูดคุย
"เท่าที่ทราบ มีการพูดคุยกันเป็นระยะในประเด็นเหล่านี้ แต่ขึ้นกับนายกฯ จะมีโอกาสพบผู้ว่าธปท.หรือไม่อย่างไร ผมคงไม่ได้อยู่ในจุดนั้น" นายจุลพันธ์ กล่าว