สรท. คงเป้าส่งออกไทยปี 66 หดตัว 1% แม้ Q4/66 ฟื้นตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 9, 2024 11:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สรท. คงเป้าส่งออกไทยปี 66 หดตัว 1% แม้ Q4/66 ฟื้นตัว

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก คาดแนวโน้มการส่งออกในปี 2566 มีมูลค่า 2.85 แสนล้านดอลลาร์ หรือหดตัว 1% ตามกรอบที่เคยประเมินไว้ในก่อนหน้านี้ หลังภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 261,770.3 ล้านดอลลาร์ หดตัว 1.5% แม้ส่งออกในช่วงไตรมาส 4/66 กลับมาขยายตัวเป็นบวกได้

"ยอดส่งออกเดือนธันวาคมน่าจะโต 7% ส่งผลให้ส่งออกทั้งปีหดตัวลดลงเหลือ -1% มูลค่า 2.85 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 9.8 ล้านล้านบาท ถือว่าปี 66 จบแล้ว ความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ขณะที่เพื่อนบ้านหดตัว 5-8%" นายชัยชาญ กล่าว
สรท. คงเป้าส่งออกไทยปี 66 หดตัว 1% แม้ Q4/66 ฟื้นตัว
*ปัจจัยเฝ้าระวัง

นายชัยชาญ กล่าวว่า สรท. คาดการณ์การส่งออกของไทย ปี 2567 ว่าจะเติบโตได้ 1-2%

"เป้าส่งออกปีนี้แค่โต 1-2% เพราะมีปัญหาเข้ามาเรื่อยๆ เหมือนเราโต้คลื่นที่สูงขึ้น ปีนี้โจทย์ยากขึ้น สถานการณ์ยังต้องเฝ้าระวัง และเร่งหาตลาดใหม่" นายชัยชาญ กล่าว

โดยมีปัจจัยเฝ้าระวังที่สำคัญ ได้แก่

1. การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท โดยเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย เคลื่อนไวในกรอบ 34-35 บาท เฝ้าติดตามสถานการณ์เงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่ทยอยปรับตัวลดลงต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (FED) อาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไตรมาสที่ 1/2567

2. อัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายประเทศยังคงทรงตัวระดับสูง แต่เริ่มมีแนวโน้มที่จะทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในบางประเทศแล้ว จากสภาวะเงินเฟ้อที่เริ่มผ่อนคลายลง

3. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะสถานการณ์วิกฤตในทะเลแดง (Red sea) บริเวณช่องแคบ บับ อัล-มันเดบ ซึ่งเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าหลักไปทวีปยุโรป และตะวันออกกลาง ส่งผลให้ค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น และใช้ระยะเวลาการขนส่งสินค้านานขึ้น

4. ดัชนีภาคการผลิต (PMI) ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ณ ระดับ 47.9, 44.4 และ 47.9

5. ความกังวลเรื่องต้นทุนภาคการผลิตที่ยังมีความไม่แน่นอน อาทิ ค่าไฟฟ้า, ค่าแรงขั้นต่ำ และค่าระวางเรือเส้นทางยุโรปเริ่มปรับตัวสูงขึ้น เป็นต้น

*ข้อเสนอแนะ

1. จากวิกฤตสถานการณ์ทะเลแดง ภาครัฐและเอกชนต้องบริหารจัดการการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางทะเลร่วมกัน โดยขอให้นำเรือใหญ่เข้ามาขนถ่ายสินค้าในไทยมากขึ้น สนับสนุนกิจกรรม Transshipment และยกระดับท่าเรือสงขลา โดยการขุดลอกร่องน้ำลึก ทั้งนี้ เพื่อลดต้นทุนทางอ้อม และเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ

2. เพื่อให้การส่งออกปี 2567 อยู่ในทิศทางที่สามารถเติบโตได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องบริหารจัดการปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการโดยตรง อาทิ ต้นทุนพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าจ้างขั้นต่ำ อัตราดอกเบี้ย ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ในขณะเดียวกันควรมีมาตรการ Soft Loan เพื่อเสริมสภาพคล่องโดยเฉพาะกลุ่ม SME จากความผันผวนที่คาดการณ์ได้ยาก

3. สนับสนุนงบประมาณในการเปิดตลาดศักยภาพใหม่ ในปี 2567 รวมถึงส่งเสริมกิจกรรมการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยเพิ่มมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ