ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ประมาณรายได้ท่องเที่ยวไทยปี 67 อยู่ที่ระดับ 2.75 ล้านล้านบาท ฟื้นตัวเกือบสมบูรณ์มากกว่า 90% จากการท่องเที่ยวในประเทศที่ฟื้นตัวสมบูรณ์ในฝั่งของรายได้ ในขณะที่กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ คาดว่านักท่องเที่ยวชาวจีนกลับมาเพียง 52% ของภาวะปกติ จากแรงกดดันทางเศรษฐกิจภายในประเทศ และพฤติกรรมการเดินทางที่เริ่มเปลี่ยนตามโครงสร้างอายุ และรายได้ แนะภาครัฐออกนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับนักท่องเที่ยวในแต่ละกลุ่มที่มีพฤติกรรมต่างกัน
ttb analytics ระบุว่า ในปี 66 ที่ผ่านมา นับเป็นความสำเร็จของการท่องเที่ยวไทย ทั้งในมิติของนักท่องเที่ยวในประเทศที่สูงเป็นประวัติการณ์ที่ตัวเลข 254.4 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้กว่า 8 แสนล้านบาท รวมถึงในฝั่งของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้ตามเป้าที่ทาง ttb ประมาณการไว้ที่ 28 ล้านคน สร้างเม็ดเงินราว 1.4 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ ส่งผลให้ภาพรวมประเทศไทยสร้างเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวได้กว่า 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 73% เมื่อเทียบกับจุดสูงสุดเดิมที่ 3 ล้านล้านบาท ในปี 62 โดยจำนวนเม็ดเงินดังกล่าว หลุดเป้าไปราว 2 แสนล้านบาท จากที่ภาครัฐได้ตั้งเป้าไว้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท
แม้การประมาณรายได้จากนักท่องเที่ยวที่พลาดเป้าในปีที่ผ่านมา แต่ในปี 67 นี้ ก็ยังเห็นมุมมองของภาครัฐที่ตั้งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งในมิติของจำนวนที่คาดว่าจะสูงถึง 40 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 2.5 ล้านล้านบาท เมื่อรวมกับรายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศ จะสามารถสร้างเม็ดเงินได้สูงถึง 3.5 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการตั้งเป้าหมายเพิ่มขึ้นกว่า 60% ทั้งที่รายได้จากปีก่อนก็ยังหลุดเป้าไปราว 10%
โดยในมุมมองของ ttb มีความเห็นว่าในปี 67 นี้ ศักยภาพรายได้จากการท่องเที่ยว คาดว่าจะอยู่ที่ราว 2.75 ล้านล้านบาท ดังนี้
1. กลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทย ttb ประเมินปี 67 การท่องเที่ยวในประเทศ ยังสามารถสร้างประวัติศาสตร์เป็นปีที่ 2 ต่อเนื่องจากปี 66 ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะสูงถึง 292.1 ล้านคน-ครั้ง บนพฤติกรรมการใช้จ่ายในการท่องเที่ยวต่อทริปลดลงจากภาวะค่าครองชีพและภาระทางการเงินที่สูงขึ้น ลดทอนรายได้ที่ใช้จ่ายได้จริง แต่จากการชดเชยของมิติเชิงจำนวน สามารถดันให้รายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศคาดแตะระดับ 1 ล้านล้านบาท ได้อีกครั้งหนึ่ง บนรูปแบบของการท่องเที่ยวจากคนไทย ดังนี้
- เทรนด์การเที่ยวแบบไปเช้า-เย็นกลับ (One-Day Trip) โดยไม่พักแรมเพิ่มขึ้น สะท้อนผ่านจำนวนนักท่องเที่ยวในภาคกลาง และภาคตะวันตก ฟื้นตัวเทียบช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ที่ 136% และ 146% แต่รายได้กลับฟื้นตัวเพียง 103% และ 119% ตามลำดับ
- นักท่องเที่ยวคนไทยมีแนวโน้มเที่ยวเมืองรองที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าเมืองหลักเพิ่มขึ้น เช่น จังหวัดเชียงราย น่าน แพร่ ในพื้นที่ภาคเหนือ มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% และจังหวัดสตูล และนราธิวาส ในพื้นที่ภาคใต้ มีตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 30-40% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19
- การปรับลดคืนค้างแรมลง โดยเฉพาะกลุ่มจังหวัดห่างไกล ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายที่ลดลงต่อทริป โดยเฉพาะในกลุ่มภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สะท้อนผ่านเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวเทียบก่อนสถานการณ์โควิด-19 กลับมาที่ 58% และ 72% ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวฟื้นตัวในอัตราที่สูงกว่าที่ 100% และ 92% ตามลำดับ
2. ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในปี 67 คาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติ จะอยู่ที่ 33.1 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 1.75 ล้านล้านบาท จากค่าเฉลี่ยในการใช้จ่ายต่อทริปที่คาดสูงขึ้นจากราคาที่พักที่ปรับตัวรับอุปสงค์ และแนวโน้มวันท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น
โดยในรายละเอียดพบว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวไม่นับรวมชาวจีน (Non-Chinese Travelers) คาดกลับมาใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 แต่ปัจจัยที่น่าจับตา คือการกลับมาของนักท่องเที่ยวชาวจีน (Chinese Travelers) ที่คาดยังไม่ฟื้นตัวสมบูรณ์ด้วยอัตราการกลับมาที่ราว 5.7 ล้านคน คิดเป็น 52% เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เนื่องจากแรงกดดันดังต่อไปนี้
- แรงกดดันจากเศรษฐกิจภายในประเทศของจีน เช่น ปัญหาการว่างงานในคนอายุ 16-24 ปี ที่สูงเกินกว่า 20% ส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวหน้าใหม่ที่จะเดินทางออกนอกประเทศที่ลดลง ซึ่งตามสถิติจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ชี้นักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออกกว่า 63% มีอายุต่ำกว่า 35 ปี รวมถึงความมั่งคั่งสุทธิที่ลดลงจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคการเงินที่ยังน่ากังวล ที่ส่งผลให้สินทรัพย์หรือรายได้ของชาวจีนบางกลุ่มลดลง จนอาจกระทบต่อการตัดสินใจท่องเที่ยวต่างประเทศ
- จำนวนนักท่องเที่ยวที่ส่งสัญญาณเติบโตชะลอตั้งแต่ช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงปี 60-62 นักท่องเที่ยวชาวจีนเข้าไทยเพิ่มขึ้นที่ 6.5% ต่อปี ในขณะที่ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ยังรักษาอัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวชาวจีนได้สูงถึง 14% และ 20% ต่อปีตามลำดับ ประกอบกับในปี 66 พบนักท่องเที่ยวชาวจีนขาออกนอกประเทศ ภาพรวมฟื้นตัวกว่า 60-65% ในขณะที่การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนในไทย กลับฟื้นตัวเพียง 32% ของภาวะปกติ
- ความดึงดูดในเรื่องของอัตราการท่องเที่ยวซ้ำ เนื่องจากตลาดท่องเที่ยวไทย เป็นตลาดที่เข้าถึงง่ายจากค่าใช้จ่ายต่อทริปที่ไม่สูง ส่งผลให้ตลาดไทยอยู่ในฐานะจุดหมายแรกของการเริ่มเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ (Entry Level) ที่อาจได้ประโยชน์ในระยะแรก แต่อาจเริ่มถูกตั้งคำถามถึงอัตราการท่องเที่ยวซ้ำ (Revisit Intention) เมื่อนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามช่วงเวลา อาจมีทางเลือกในการเดินทางไปยังประเทศอื่นเพิ่มมากขึ้น สะท้อนผ่านสัดส่วนของจำนวนนักท่องเที่ยว และรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีนในปี 62 มีสัดส่วนที่เท่ากันที่ 28% ในขณะที่นักท่องเที่ยวชาวจีนในฝรั่งเศส ที่มีสัดส่วนเพียง 3% แต่สามารถสร้างรายได้ให้การท่องเที่ยวเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 7%
ttb คาดว่าปี 67 มูลค่าการท่องเที่ยวไทย จะมีมูลค่า 2.75 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเป้าที่ภาครัฐได้วางไว้ที่ 3.5 ล้านล้านบาท หรือห่างจากเป้าหมายเกือบ 8 แสนล้านบาท แต่มองว่ายังมีศักยภาพดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากขึ้นในเชิงคุณภาพ หากมีการกำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์ให้ตรงตามกลุ่มให้ชัดเจน เช่น นักท่องเที่ยวจากเอเชีย ที่ไทยได้ประโยชน์จากการเดินทางที่สะดวก และค่าใช้จ่ายต่อทริปที่ต่ำ
โดยภาครัฐควรตั้งเป้าหมายในการดึงดูดให้เกิดการท่องเที่ยวซ้ำ เช่น สิทธิประโยชน์ที่อาจมอบให้เมื่อมีการกลับมาท่องเที่ยวซ้ำในกรอบระยะเวลาที่กำหนด รวมถึงเร่งพัฒนาโครงข่ายคมนาคมให้สะดวก ปลอดภัย ที่สามารถเชื่อมกับภูมิภาคต่างๆ เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมีความต้องการท่องเที่ยวซ้ำในภูมิภาคอื่นๆ และในกลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ที่มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวที่อยู่อาศัยระยะยาวสูง โดยเปรียบเทียบอาจให้เป็นในรูปแบบสิทธิประโยชน์เรื่องการจัดหาที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ จัดหาบริการระบบประกันสุขภาพที่ครอบคลุม
รวมถึงในภาพรวม ควรจัดตั้งหน่วยงานสายด่วนรับเรื่องร้องเรียน ที่สามารถแก้ปัญหานักท่องเที่ยวต่างชาติถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างจริงจัง เพื่อยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวไทยให้ก้าวไปอีกระดับ เพื่อสามารถส่งต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวที่เป็นมิตร เพิ่มโอกาสการกลับมาเที่ยวซ้ำสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวอายุน้อย และโน้มน้าวให้นักท่องเที่ยวมีความประสงค์ที่จะอยู่อาศัยระยะยาว เพื่อโอกาสในการยกระดับให้การท่องเที่ยวไทยเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาว