การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทย ในปี 2566 เริ่มกลับมาขยายตัวอีกครั้งในช่วงปลายปี 2566 หลังจากที่หดตัวมาตลอดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดในเดือนพ.ย.66 การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง มีมูลค่า 222 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น มาเลเซีย อิตาลี และออสเตรเลีย
ส่วนในปี 2565 ไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง อันดับ 6 ของโลก โดยมีมูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง 2,803 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 3.36% ของการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของโลก ขยายตัว 16.46% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยผู้ส่งออก 5 อันดับแรกของโลก ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ รองลงมา คือ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และจีน
ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนของอาหารสุนัขและแมว พบว่า ประเทศไทยส่งออกได้เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากเยอรมนี และสหรัฐอเมริกา โดยไทยมีมูลค่าการส่งออก 2,434 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 19.33% เมื่อเทียบกับปี 2564 หรือคิดเป็นสัดส่วน 5.51% ของการส่งออกสินค้าอาหารสุนัขและแมวทั่วโลก
จากผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกปี 2566 ของ Euromonitor International Voice of the Consumer พบว่า แนวโน้มสำคัญที่ส่งผลต่อพฤติกรรมและความต้องการในการเลือกซื้ออาหาร และผลิตภัณฑ์ดูแลสัตว์เลี้ยงของผู้บริโภคในยุคนี้
(1) การให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงเสมือนเป็นหนึ่งในสมาชิกครอบครัว (Pet Humanization)
(2) การให้ความสำคัญกับสุขภาพของสัตว์เลี้ยงเช่นเดียวกับสุขภาพของผู้เลี้ยง
(3) การจัดจำหน่ายอาหารและผลิตภัณฑ์ดูแลสัตว์เลี้ยงผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ควบคู่กัน (Omni Channel)
(4) การให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน ใช้บรรจุภัณฑ์ที่คำนึงถึงความยั่งยืน ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า แม้ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงของไทย จะมีศักยภาพในการเติบโต และยังคงเป็นที่ต้องการจากผู้บริโภคทั่วโลก แต่ผู้ส่งออกก็ยังต้องให้ความสำคัญต่อข้อกำหนดการนำเข้า มาตรฐานของประเทศปลายทาง และแนวโน้มความต้องการ รวมทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภครายใหม่ ๆ อยู่เสมอ
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงของสหภาพยุโรป (EU) ถือเป็นตลาดผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงที่มีมูลค่าการค้าสูง โดยอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงของ EU มีมูลค่ารวม 29,100 ล้านยูโร (หรือ 31,100 ล้านเหรียญสหรัฐ) ดังนั้น EU เป็นตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงที่ไทยจะต้องเร่งผลักดันการส่งออกให้เพิ่มขึ้น โดยกฎระเบียบและมาตรการที่ยุโรปบังคับใช้นั้น เป็นทั้งโอกาส และความท้าทาย ของผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงไทย ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถเจาะกลุ่มตลาดพรีเมียม อาทิ การผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงออร์แกนิก การวิจัยและพัฒนา (R&D) อาหารสัตว์เลี้ยงให้มีคุณค่าทางโภชนาการเพิ่มขึ้น รวมถึงต้องศึกษารสนิยม พฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค
ตลอดจนการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงผู้บริโภคยุคใหม่ และผู้บริโภคกลุ่ม "Pet Humanization" โดยราคาต้องเหมาะสมกับคุณภาพ สร้างภาพลักษณ์และความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ และให้ความสำคัญกับมาตรฐานและความปลอดภัยของวัตถุดิบเป็นอันดับต้น ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทย เพื่อให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ และช่องทางการตลาดให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยรักษาส่วนแบ่งตลาดเดิม และเพิ่มโอกาสในการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดใหม่ ๆ จากคู่แข่งท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น