ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (15-19 ม.ค.) อยู่ที่ระดับ 34.70-35.40 บาท/ดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณเงินทุนต่างชาติ และงาน BOT Policy Briefing ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนม.ค.67 ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและยอดขายบ้านมือสองเดือนธ.ค.66 และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามอัตราเงินเฟ้อเดือนธ.ค.66 ของยูโรโซนและอังกฤษ รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจจีน อาทิ จีดีพีไตรมาส 4/66 และเครื่องชี้เศรษฐกิจอื่นๆ ในเดือนธ.ค.66 ด้วยเช่นกัน
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (8-12 ม.ค.) เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 1 เดือนที่ 35.23 บาท/ดอลลาร์ฯ ในระหว่างสัปดาห์ เงินบาทยังคงอ่อนค่าสอดคล้องกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย โดยเงินบาทเผชิญแรงขายในช่วงต้นสัปดาห์ สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่มีแรงหนุนบางส่วนต่อเนื่อง จากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ซึ่งออกมาดีกว่าที่คาด อย่างไรก็ดี เงินบาทดีดตัวกลับมาช่วงสั้นๆ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ขาดแรงหนุน หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ย่อตัวลงในช่วงก่อนการประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ เงินบาทกลับไปอ่อนค่าลงอีกครั้งในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ สอดคล้องกับสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของต่างชาติ ประกอบกับตลาดยังคงรอติดตามสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ขณะที่แรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ ชะลอลงบางส่วน หลังข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภคและจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ซึ่งออกมาดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด สะท้อนว่าโอกาสการลดดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนมี.ค. ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง
โดยในวันศุกร์ที่ 12 ม.ค.67 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.06 บาท/ดอลลาร์ฯ เทียบกับ 34.72 บาท/ดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (5 ม.ค.67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ระหว่างวันที่ 8-12 ม.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 4,238 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 4,380 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 3,460 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 920 ล้านบาท)