กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มอยู่ที่ 34.60-35.30 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 35.03 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 1 เดือน ขณะตลาดกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่มีความไม่แน่นอนสูงขึ้น
ขณะที่เงินดอลลาร์ทรงตัวเทียบกับเงินยูโรแต่แข็งค่าเทียบเมื่อกับเยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ธ.ค.ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 3.4% โดยเร่งตัวขึ้นจาก 3.1% ในเดือน พ.ย. ขณะที่ดัชนี CPI พื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น 3.9% ซึ่งถือเป็นอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค.64 แต่สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวผันผวนก่อนร่วงลง
นอกจากนี้ ท้ายสัปดาห์ สหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิตต่ำเกินคาด ทางด้านนักลงทุนคาดว่ามีโอกาสสูงราว 80% ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะเริ่มลดดอกเบี้ยในเดือน มี.ค.นี้ ขณะที่ในภาพใหญ่ แรงกดดันด้านเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในทิศทางชะลอตัวลงชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 4,238 ล้านบาท และ 4,137 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ ตลาดจะให้ความสนใจกับตัวเลขยอดค้าปลีกเดือน ธ.ค.ของสหรัฐฯ ความเห็นจากเจ้าหน้าที่เฟดหลายราย รวมถึงสถานการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลางและผลกระทบต่อราคาน้ำมันและค่าขนส่ง หลังสหรัฐฯ และอังกฤษโจมตีทางอากาศในเยเมน เพื่อตอบโต้ต่อกลุ่มฮูตีซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านได้โจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดงเพื่อสนับสนุนกลุ่มฮามาสในเขตฉนวนกาซา โดยหากสถานการณ์ขยายวงออกไปจะเพิ่มความเสี่ยงด้านขาขึ้นของเงินเฟ้อ และทำให้เฟดระมัดระวังมากขึ้น
ส่วนปัจจัยในประเทศ คาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะใช้เวที BOT Policy Briefing เพื่อสื่อสารแนวคิดต่อสาธารณชนในการดำเนินนโยบายการเงินหลังภาครัฐเห็นต่างกันมากขึ้นเรื่องดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่นายกรัฐมนตรี ระบุว่าไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยแต่ไม่ได้ก้าวก่ายการทำงานของ ธปท. โดยได้หารือกับผู้ว่าการ ธปท.เพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมเป็นหลัก อีกทั้งได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ของบริษัทต่างๆ รวมถึงแนวทางดูแลในระยะยาว
อนึ่งมองว่า Sentiment ค่าเงินบาทอาจดีขึ้นหลังมีความชัดเจนจากธปท. และมีโอกาสน้อยที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้