คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.).เตรียมจัดสัมมนาเรื่อง “เดอะ ไทยแลนด์ อินเวสเม้นท์ เอนไวรอนเมนท์ : ลุคกิ้ง ฟอร์เวิร์ด" ในเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อเสนอทิศทางในอนาคตกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการ โดยมุ่งหวังให้มีการลงทุนในไทยมากขึ้น โดยภาคเอกชนมีความเป็นห่วงว่าสถานการณ์การเมืองจะมีผลต่อการลงทุนในไทย เพราะที่ผ่านมายังไม่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลเท่าที่ควร
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า ตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นการสะท้อนของกลุ่มที่ได้ประโยชน์ขอรับส่งเสริมการลงทุน ดังนั้น สิ่งที่เป็นความหวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ คือ การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ (เมกะโปรเจกต์) ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้
สำหรับการขึ้นค่าจ้างแรงงานนั้น ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน เพื่อชดเชยค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแต่ละอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบต่างกัน อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากจะได้รับผลกระทบสูง
ส่วน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2551 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วและจะมีผลบังคับใช้วันที่ 27 พ.ค.นี้ ในมาตรา 11/1 จะมีปัญหาการตีความลูกจ้างรับเหมา(ซับคอนแทค)ว่าจะต้องรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เป็นธรรมเท่ากับพนักงานบริษัท ซึ่งแนวทางปฏิบัติและคำชี้แจงแต่ละมาตรา ทาง กกร.กำลังศึกษา โดยได้มีการตั้งคณะทำงานภายใน และหากมีข้อสงสัยจะได้หารือกับกระทรวงแรงงานต่อไป
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กฎหมายมาตราดังกล่าวยังมีปัญหาการตีความ ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจที่จะต้องมีการจ้างซับคอนแทคมาก เช่น ธุรกิจยานยนต์ และธุรกิจบริการ เพราะจะต้องตีความในข้อกฎหมายเรื่องดังกล่าว รวมถึงกระทบกับนักลงทุนต่างชาติ หากไม่มีความชัดเจนในเรื่องผลประโยชน์ที่ซับคอนแทคจะได้รับ
--อินโฟเควสท์ โดย อตฦ/ศศิธร/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--